5 เดือนสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และส่อรุนแรงมากขึ้น สร้างแรงกระเพื่อมกระทบไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยทั้งกระทบห่วงโซ่การผลิต ราคาพลังงาน อาหาร วัตถุดิบอาหารสัตว์ ปุ๋ย เหล็ก ฯลฯ สูงขึ้น ดันเงินเฟ้อทั่วโลกขยับไม่หยุด เศรษฐกิจประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งสหรัฐฯ ยุโรปส่อถดถอย จีนส่อชะลอตัว
รายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย เผยว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนนับแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่รัสเซียได้เปิดปฏิบัติการทางทหารกับยูเครน ล่าสุดส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังรัสเซียอย่างรุนแรง ตัวเลขเดือนพฤษภาคมล่าสุด มีมูลค่าเพียง 25.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 874 ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน 34 บาทต่อดอลลาร์) ลดลง 64.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนภาพรวมช่วง 5 เดือนแรกส่งออกไทยไปรัสเซียมีมูลค่า 250.13 ล้านดอลลาร์ (8,264 ล้านบาท) ลดลง 31.99% และในรูปเงินบาทลดลง 25.5% (กราฟิกประกอบ)
จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” สินค้าส่งออกไทยไปรัสเซียที่ลดลงช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ในกลุ่มสินค้าส่งออก 10 อันดับได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-34.16%), ผลิตภัณฑ์ยาง (-11.78%), เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (-35.53%), ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (-35.95%), อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (-13.01%) เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ยังขยายตัวเป็นบวก เช่น เม็ดพลาสติก (+5.52%)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย กล่าวว่า การค้าไทย-รัสเซียที่ลดลงมาจากหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ การถูกแซงชั่นทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก และสหรัฐฯ ทำให้ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ถูกจำกัด และไม่มีความแน่นอน สายการบิน สายเดินเรือไม่รับสินค้าเข้า-ออกจากรัสเซีย การขนส่งสินค้า การชำระเงินหรือโอนเงินค่าสินค้าต้องผ่านประเทศที่สาม เช่น จีน ตะวันออกกลาง ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น และกำไรลดลง ซึ่งในสินค้าที่มีมาร์จิ้น (กำไร) ต่ำ เช่น สินค้าอาหารไม่จูงใจในการค้าขาย ส่วนในสินค้าที่ยังพอมีกำไรและยังไปได้ เช่น เม็ดพลาสติกที่เวลานี้มีราคาสูงขึ้น ก็ยังมีการส่งออกจากผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทย
“การส่งออกไทยไปรัสเซีย และยูเครน ซึ่งเป็นคู่สงคราม ช่วง 5 เดือนลดลงไปมาก แต่ก็ยังมีการค้าขายกันอยู่ ปุ๋ยเขาก็ยังส่งออกมาไทย แต่การขนส่งโลจิสติกส์มีความไม่สะดวก และมีต้นทุนสูงขึ้น คาดเดือนที่เหลือของปีนี้หากสงครามยังยืดเยื้อบานปลาย การค้าไทย-รัสเซีย และไทย-ยูเครนก็ยังไม่ดีขึ้น คาดทั้งปีนี้จะขยายตัวลดลงจากปีที่แล้ว 40-50%”
ด้าน นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังมีผลกระทบต่อห่วงโซ่วัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดแคลน และราคาสูงขึ้น ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง ข้าวสาลี โดยเทียบเดือนมิ.ย.2565 กับ มิ.ย. 2564 อาหารสัตว์ข้างต้นราคาสูงขึ้น 15-33% อย่างไรก็ดีจากที่กระทรวงพาณิชยได้ยกเว้นมาตรการ 3 : 1 ชั่วคราว (ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน นำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน) เป็นเวลา3 เดือน (พ.ค.- ก.ค. 65) และขยายโควตาให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) ได้ไม่เกิน 6 แสนตัน โดยยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียม ภายในกรกฎาคมนี้
ทั้งนี้หลังมีมาตรการผ่อนปรน ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ได้มีการขออนุญาตนำเข้าข้าวสาลีแล้วทั้งสิ้น 210,025 ตัน และนำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO ประมาณ 56,405 ตัน รวมนำเข้าภายใต้มาตรการผ่อนปรน 266,430 ตัน คิดเป็น 22% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.2 ล้านตัน สาเหตุที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายจากหลายประเทศมีนโยบายระงับการส่งออก ทำให้จัดหาวัตถุดิบได้ยาก ราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น และต้องเร่งนำเข้าให้ทันกับกรอบระยะเวลาที่รัฐกำหนด
“เวลานี้กรมการค้าภายในยังควบคุมราคาขายอาหารสัตว์ ยังไม่มีรายใดได้รับอนุมัติปรับขึ้นราคา ดังนั้นข้อเสนอของเราคือให้รัฐพิจารณาลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ทุกชนิด และยกเลิกมาตรการที่บิดเบือนกลไกตลาดทุกชนิด”
ขณะที่ปุ๋ยเคมี ที่มีผลต่อเกษตรกรและผลผลิตทางการเกษตรของประเทศ เป็นอีกสินค้าสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ย และปุ๋ยเคมีขาดแคลนและราคาพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งรวมทั้งไทย ทำให้ต้องเร่งหาแหล่งนำเข้าอื่นทดแทนนั้น
นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เผยว่า เวลานี้การเจรจาของทางการไทยกับ 3 บริษัทผู้ผลิตและค้าปุ๋ยของซาอุดิอาระเบียได้แก่ SABIC, MA’ADEN (Saudi Arabian Mining Co.) และ ACO group ยังอยู่ในขั้นดำเนินการ อย่างไรก็ดีจากสถานการณ์เวลานี้แนวโน้มบาทอ่อนค่า ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ส่งผลให้ราคาปุ๋ยเริ่มลดความร้อนแรง หลายบริษัทไม่กล้าสั่งเข้ามา เพราะเสี่ยงขาดทุนสูง แม้กระทรวงพาณิชย์จะยอมปรับเพดานราคาปุ๋ยใหม่ แต่ไม่ได้มากถึงกับเป็นแรงจูงใจให้กล้าเสี่ยงที่จะนำเข้ามาจำหน่าย ท่ามกลางเกษตรกรที่มาร้องกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้ได้ของราคาถูก ปัจจุบันสต๊อกปุ๋ยในประเทศขณะนี้ยังมีเพียงพอ
สอดคล้องกับนายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปริมาณนำเข้าปุ๋ยเคมี ปี 2565 (1 ม.ค.-15 ก.ค.) 2.90 ล้านตัน มูลค่ากว่า 70,976 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าเท่ากับที่นำเข้าทั้งปี 2564 แล้ว (ปี 64 ไทยนำเข้าปุ๋ย 5.5 ล้านตัน มูลค่า 7.01 หมื่นล้านบาท) จากราคาปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ยอดขายของผู้ค้าลดลงมาก โดยเฉพาะปุ๋ยยูเรีย อย่างไรก็ดีการนำเข้าปุ๋ยจากซาอุดิอาระเบียที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดอีก 2 เดือน จะนำเข้ามาได้
แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากราคาปุ๋ยตลาดโลกที่ปรับขึ้น บางประเทศระงับการส่งออก ทำให้ปุ๋ยในประเทศขาดแคลนและไม่เพียงพอ ส่งผลทำให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องร้อนใจ เสนอให้ภาครัฐไปจัดหาปุ๋ยจากรัสเซีย ที่เวลานี้หลายบริษัทไม่กล้าสั่งซื้อ เพราะเกรงทางสหรัฐอเมริกา และยุโรปจะเพ่งเล็ง หรือออกมาตรการทางการค้ากับไทยที่ยังค้ากับรัสเซีย
ส่วนการสั่งซื้อปุ๋ยจากอิหร่าน ก็มีปัญหาเรื่องความเสี่ยงสั่งไปแล้วไม่แน่ใจว่าของจะได้เมื่อไร ขณะที่โรงงานปุ๋ยของจีนใน สปป.ลาว ยังระงับส่งขาย แต่ถ้าจะสั่งซื้อต้องไปติดต่อกับรัฐบาลกลาง ไม่ได้ง่ายอย่างที่หลายฝ่ายคิด ก็ทราบว่าทุกคนร้อนใจ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร