นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ ล่าสุดได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์ ณ กรุงเวียนนา ถึงความคืบหน้าการผลักดันข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของไทย เข้าสู่ตลาดออสเตรีย หลังจากที่ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดข้าวไทยให้กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้าออสเตรียไปก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า ผู้นำเข้ารายแรกได้บรรลุคำสั่งซื้อข้าวล็อตแรกปริมาณ 1 ตู้คอนเทนเนอร์ และได้มีการส่งมอบสินค้าเป็นที่เรียบร้อย โดยสินค้าถูกขนส่งมาถึงกรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งทันทีที่ผู้นำเข้าได้เห็นสินค้า มีความพึงพอใจอย่างมาก และประเมินสถานการณ์ว่าสินค้าล็อตนี้จะได้รับการตอบรับอย่างสูงมากจากลูกค้าและจะถูกจำหน่ายหมดภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว จึงได้ทำการติดต่อกับผู้ผลิตเพื่อขอสั่งซื้อข้าวล็อตต่อไปในทันที
นางสาวอรอนุช ผดุงวิถี ผู้อำนวยการสานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา กล่าวว่า ความสำเร็จดังกล่าว เป็นไปตามยุทธศาสตร์ เวียนนาโมเดล ที่มุ่งมั่นตั้งใจส่งเสริมข้าวหอมมะลิไทยในตลาดโลก เพื่อต่อสู้กับข้าวหอมจากประเทศอื่น ๆ ที่เข้าตีตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา ได้สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้นำเข้าถึงความแตกต่างระหว่างข้าวหอมมะลิไทย และข้าวหอมทั่วไป
ซึ่งยังคงมีความเข้าใจผิดอยู่มากในกลุ่มผู้บริโภค ตลอดจนสามารถเจรจาโน้มน้าวให้ผู้นำเข้าออสเตรียหลายรายหันมานำเข้าข้าวหอมมะลิไทยที่ได้รับเครื่องหมายรับรองของกรมการค้าต่างประเทศ และข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นสินค้าชนิดแรกของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ของสหภาพยุโรป
ขณะเดียวกัน สามารถจับคู่ธุรกิจระหว่างข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ตราศรีแสงดาวกับผู้นำเข้าอาหารในกรุงเวียนนา 2 ราย รายแรกเป็นธุรกิจนำเข้า ค้าส่งและค้าปลีกอาหารเอเชีย รวมถึงจัดส่งวัตถุดิบให้กับร้านอาหารเอเชียในประเทศออสเตรียและสโลวีเนีย อีกรายเป็นผู้นำเข้าสินค้าอาหารเกรดพรีเมียมรายเก่าแก่ของประเทศออสเตรีย ซึ่งมีช่องทางการจำหน่ายผ่านเครือข่ายห้างค้าปลีกรายใหญ่ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้ข้าวหอมมะลิไทยและข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จะเป็นข้าวเกรดพรีเมียมและมีคุณภาพดีกว่าข้าวหอมอื่น ๆ รวมถึงมีจุดขายที่ทำให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงกว่าโดยไม่จำเป็นต้องลดระดับลงไปแข่งขันกับสินค้าที่เป็นรอง แต่ผู้ผลิตควรพิจารณาพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม ใช้นวัตกรรมเข้าช่วยในการลดต้นทุนเพื่อให้ราคาข้าวอยู่ในระดับที่ผู้บริโภคยอมรับได้ จัดสรรให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าและเป็นธรรม และทำประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจและยอมจ่ายเงินมากกว่าเพื่อสินค้าที่ดีกว่า