"บิ๊กป้อม" ถกบอร์ดประมงแห่งชาติ เคาะงบ 287 ล้าน ดันเรือประมงออกนอกระบบ

25 ก.ค. 2565 | 05:01 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2565 | 12:09 น.

บอร์ดประมงแห่งชาติ ไฟเขียวโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ระยะที่ 2 จำนวน 59 ลำ วงเงิน 287 ล้านบาท พร้อมเคาะแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในทะเลสาบสงขลา ปี 2566 - 2570

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ผ่านระบบทางไกล โดยที่ประชุมมีมติโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ระยะที่สอง จำนวน 59 ลำ วงเงิน 287,181,800 บาท 

 

พร้อมกับเห็นชอบแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในทะเลสาบสงขลา ปี 2566 - 2570 มีสาระสำคัญ ในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชาวประมง ชุมชนและผู้เกี่ยวข้อง ในการจัดการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย รวมทั้ง การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรประมงที่เสี่ยงสูญพันธุ์ 

 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ

โดยกำหนด 3 แนวทาง ประกอบด้วย 

  1. การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ 
  2. การใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมงแบบบูรณาการ 
  3. การบริหารจัดการทรัพยากรประมงในทะเลสาปสงขลาอย่างยั่งยืน 

 

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังรับทราบกำหนดการประชุม คณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลไทย กับคณะกรรมาธิการยุโรปในการต่อต้านการทำประมง IUU ครั้งที่ 6 ณ กรุงเทพฯ ระหว่าง 10 - 14 ต.ค.65 และการเตรียมการจัดทำรายงานความก้าวหน้า ในการต่อต้านการทำประมง IUU ของไทย 

 

พร้อมทั้งรับทราบผลการพิจารณาจัดสรรใบอนุญาตและหลักเกณฑ์การทำประมง ปี 65-66 โดยมีเรือที่ขอรับการจัดสรรจำนวน 9,687 ลำ ได้รับการอนุญาต 9,608 ลำ อยู่ในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย 7,703 ลำ และฝั่งอันดามัน 1,905 ลำ ไม่ได้รับอนุญาต 79 ลำ จากคุณสมบัติที่ไม่ครบถ้วน 
 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า รัฐบาลจะยกระดับขับเคลื่อนนโยบายการทำประมงที่ยั่งยืน จำเป็นต้องถูกกฎหมาย ควบคู่กับการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทะเล และการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสีย

 

โดยกำชับให้กรมประมงและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับ การบูรณาการทำงานร่วมกันด้วยความเข้าใจ ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศและภาคประชาชน โดยเฉพาะ การดูแลแรงงานภาคประมงและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  

 

พร้อมทั้ง ต้องพิจารณาให้ความสำคัญกับกฎหมายว่าด้วยการนำเข้าสินค้าประมงเพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (MMPA) และแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ปี 66-70 ที่จัดทำขึ้นรองรับไปพร้อมกัน

 

โดยเฉพาะ มาตรการรองรับการลดใช้พลาสติกและโฟม ที่ก่อปัญหาขยะทะเล ซึ่งจะส่งผลอันตรายต่อสัตว์ทะเล และมาตรฐานผลิตภัณฑ์สัตว์ทะเลส่งออก และความเชื่อมั่นระหว่างประเทศ