นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการประหยัดพลังงานได้เน้นย้ำเป้าหมายการลดใช้พลังงานในภาครัฐ 20% โดยมีพลังงานจังหวัดเป็นกลไกสำคัญในการประสานและส่งต่อข้อมูลด้านการประหยัดและอนุรักษ์พลังงานผ่านคณะกรรมการระดับจังหวัด
โดยจะมีกำหนดตัวชี้วัดและมีการใช้ข้อมูล Energy Utilization Index (EUI) ในการตรวจสอบและวัดผลการดำเนินงาน รวมทั้งในอนาคตอันใกล้นี้ ก็จะมีการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการประหยัดพลังงานในทั้งภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงาน
รวมทั้งการให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนให้หันมาใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น ซึ่งหากทุกภาคส่วนมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม ก็จะสามารถลดการนำเข้าพลังงาน ก็จะถือว่าเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประเทศได้อีกทาง
"การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการประหยัดพลังงานมีเป้าหมายที่จะให้พลังงานจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านพลังงานให้สามารถดำเนินงานตามนโยบายที่ได้รับจากส่วนกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการใช้คู่มือการจัดทำแผนปฏิบัติราชการด้านพลังงานระดับจังหวัดเป็นกรอบในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้และมีการติดตามประเมินผลเพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด"
นอกจากนั้น จากวิกฤตด้านราคาพลังงานที่มีความผันผวนและยังคงอยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน รัฐบาลได้มีการกำหนดมาตรการลดใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐ โดยมีเป้าหมายลดการใช้พลังงานอย่างน้อย 20% ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวจะถูกนำไปเป็นตัวชี้วัดของส่วนราชการ
ดังนั้น พลังงานจังหวัดจะต้องเป็นตัวอย่างและผู้นำในการขับเคลื่อนงานด้านการประหยัดพลังงานให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างรวดเร็ว
โดยจะต้องเป็นทั้งผู้ประสานและให้การสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการในการอนุรักษ์พลังงานและประหยัดพลังงานแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่ และขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการระดับจังหวัดในการจัดทำแผนประหยัดพลังงานในภาครัฐและจะมีการตรวจสอบและวัดผลจากข้อมูล Energy Utilization Index (EUI) ผ่านระบบ E-Report
และอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของพลังงานจังหวัด คือ การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพให้กับประชาชนผ่านเครือข่ายภายในจังหวัด เช่น อาสาสมัครพลังงาน (อส.พน.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนด้านพลังงานทดแทนในภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ให้หันมาใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานทดแทนในรูปแบบอื่นๆ ตามศักยภาพเชื้อเพลิงที่มีในพื้นที่