นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ fc“ โดยระบุโรคไวรัสโควิด-19 จะอยู่กับเราตลอดไป แต่ที่น่ากังวลคือ เชื้อไวรัสนี้มีการกลายพันธุ์ เกิดสายพันธุ์ใหม่ตลอดเวลา
สายพันธุ์ใหม่แพร่ได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม และหลบหลีกภูมิคุ้มกันไม่ว่าจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อธรรมชาติได้ดีกว่าสายพันธุ์เดิม ปัจจุบันสายพันธุ์ใหม่ใช้เวลาสั้นกว่าเดิม เพียง 3-4 เดือน ก็เข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดิม และทำให้เกิดการระบาดใหญ่ระลอกใหม่ทั่วโลก
ดูย้อนหลังไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าพบครั้งแรกในประเทศอินเดียปลายปี พ.ศ. 2563 ต่อมาแพร่กระจายเร็ว ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกใช้เวลาเกือบ 1 ปี ที่ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน BA.1 พบครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 แพร่ได้เร็วกว่าเดิม เข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลต้า ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ในทุกประเทศ
หลังจากนั้นใช้เวลาเพียง 4 เดือน ในเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2565 พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 ในประเทศแอฟริกาใต้ แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.1, BA.2, BA.4 ขณะนี้กำลังแทนที่ทุกสายพันธุ์ และทำให้เกิดการระบาดใหญ่ในทุกประเทศอีกครั้ง
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ครั้งแรกในประเทศอินเดีย ขณะนี้กำลังแพร่ระบาดในประเทศอินเดีย และกระจายไป 15 ประเทศ เรายังไม่ทราบว่าเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 จะแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.5 หรือไม่ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ที่น่าเป็นห่วงคือ เชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดใน 2 ประเทศคือ แอฟริกาใต้และอินเดีย มีโอกาสที่จะแพร่กระจายไปทั่วโลกซ้ำแล้วซ้ำอีก
ขณะเดียวกันนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ออกมาเปิดเผยเพิ่มเติมว่า กรมวิทย์ได้ดำเนินการติดตามภูมิคุ้มกัน ของคนที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 ต่อ โควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.5 เทียบกับผลต่อ BA.2 ผลสรุปพบว่า…“BA.5 หลบภูมิจากวัคซีนได้ดีกว่า!”ทั้งนี้ หากคนที่เพิ่งฉีดเข็ม 3 มาไม่นานมาก จะยังป้องกันโรคได้พอสมควร แต่วัคซีนช่วยป้องกันความรุนแรงของโรคอยู่แล้ว
ในช่วงวันที่ 16-22 ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่าสัดส่วนผู้ติดเชื้อโควิดในไทย“BA.4/BA.5 แซงหน้า BA.2 แล้ว”คิดเป็นกว่า 68.4% จากการสุ่มตัวอย่างตรวจ