ผู้โดยสารลดฮวบ กทม.พับแผนสร้าง ‘รถไฟฟ้าสายสีทอง’เฟส 2

26 ก.ค. 2565 | 05:41 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ค. 2565 | 12:47 น.

กทม.พับแผนสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง เฟส 2 วงเงิน 3 พันล้านบาท หลังโควิด-19 ระบาดหนัก กระทบยอดผู้โดยสารลดฮวบจากเดิมที่คาดเปิดให้บริการปีแรก อยู่ที่ 4.2 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน

จากสถานการณ์โควิดที่กินระยะเวลานานส่งผลให้หลายโครงการของทั้งภาครัฐและเอกชนต้องชะลอออกไป เช่นเดียวกับเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร (กทม.) โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 2 ช่วงสถานีประชาธิปก (G4) วงเงิน 3,000 ล้านบาท ระยะทาง 0.9 กิโลเมตร (กม.) หรือ 900 เมตร รายงานข่าวจากกทม. ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีแผนศึกษารายละเอียดโครงการฯในปี 2566-2567 เนื่องจากปัจจุบันพบว่าการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีทองระยะที่ 1 ผลตอบรับยังไม่เป็นที่น่าพอใจเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ลดลงอยู่ที่ 846-1,547 เที่ยว-คนต่อวัน ทำให้ต้องมีการปรับแผนการให้บริการเดินรถทั้งในเรื่องของความถี่การเดินรถและช่วงเวลาการให้บริการให้สอดคล้องกับมาตรการของภาครัฐในการลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จากเดิมที่คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในปีแรกที่เปิดให้บริการที่ 42,260 เที่ยว-คนต่อวัน

 

 

เดิมกทม.มีแผนจะศึกษารายละเอียดและก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 2 เพิ่มอีก 1 สถานีคือ สถานีประชาธิปก (G4) แต่ปัจจุบันทางกลุ่มสยามพิวรรธน์ เจ้าของศูนย์การค้าไอคอนสยาม ยังไม่ได้สนับสนุนงบลงทุนดำเนินการก่อสร้า งโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 2  คาดว่าน่าจะติดปัญหาในเรื่องปริมาณผู้โดยสารที่ลดลงทำให้ไม่ได้มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อลงทุนโครงการฯ ระยะที่ 2 

 

 

ขณะเดียวกันที่ผ่านมาทางกลุ่มสยามพิวรรธน์เป็นผู้ลงทุนการก่อสร้างเอง โดยตามแผนจะต้องดำเนินการก่อสร้างทั้งโครงการฯ จำนวน 4 สถานีประกอบด้วย สถานีกรุงธนบุรี, สถานีเจริญนคร, สถานีคลองสานและสถานีประชาธิปก (G4) แต่ปัจจุบันมีการก่อสร้างแล้ว จำนวน 3 สถานี ประกอบด้วย สถานีกรุงธนบุรี, สถานีเจริญนครและสถานีคลองสาน 
 

ทั้งนี้ที่ผ่านมาตามแผน กทม. จะศึกษาโครงการฯ ในระยะที่ 2 โดยมีแนวเส้นทางเริ่มวิ่งตามแนวถนนสมเด็จเจ้าพระยา ผ่านสถาบันจิตเวชศาสตร์ฯ โรงเรียนจันทรวิทยา และสิ้นสุดแถววัดอนงคารามวรวิหาร ทั้งนี้สถานีประชาธิปก (G4) ตั้งอยู่ระหว่างซอยสมเด็จเจ้าพระยา 6 กับซอยสมเด็จเจ้าพระยา 8 ทาง ขึ้นลงมี 3 จุด ได้แก่ บริเวณซอยสมเด็จเจ้าพระยา 3 กับ 5 บริเวณซอยสมเด็จเจ้าพระยา 6 กับ 4 และบริเวณซอยสมเด็จเจ้าพระยา 6 กับ 4 เยื้องวัดอนงคาราม

 

 

หากโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองก่อสร้างครบทั้ง 2 ช่วง สามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย ประกอบด้วย 1. รถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือรถ ไฟฟ้า BTS สายสีลม บริเวณสถานี BTS กรุงธนบุรี (G1) 2. รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เชื่อมต่อกับสถานีประชาธิปก (G4) 3.รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-บางบอน-มหาชัยเชื่อมต่อกับสถานีคลองสาน (G3)

ผู้โดยสารลดฮวบ กทม.พับแผนสร้าง ‘รถไฟฟ้าสายสีทอง’เฟส 2

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 2 ยังคงเลือกใช้รถไฟฟ้า Automated People Mover - APM (ระบบขนส่งมวลชนแบบนำทางอัตโนมัติ) เป็นรถไฟฟ้ารุ่น Bombardier Innovia APM 300 ผลิตที่เมืองอู่หู มณฑลอานฮุย สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นรถไฟฟ้ารูปแบบไร้คนขับ ขับเคลื่อนอัตโนมัติ โดยใช้รางนำทางสามารถจุผู้โดยสาร 138 คนต่อตู้ และ 1 ขบวนสามารถจุผู้โดยสาร 276 คนต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้ 4,200 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง โดยรถไฟฟ้ามีความกว้าง 2.8 เมตร ความยาว 12.75 เมตร ความสูง 3.5 เมตร ประตูมีความกว้าง 1.9 เมตรความสูงของพื้นรถ 1.1 เมตร นํ้าหนัก 16,300 กิโลกรัม ก่อให้เกิดเสียงรบกวนตํ่า ความเร็วการทำงานสูงสุดที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากเกิดเหตุฉุกเฉินระบบจะทำการหยุดรถอัตโนมัติและมีรถมารับผู้โดยสารทันที

 


อย่างไรก็ตามเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทองถือเป็นรถไฟฟ้าสายสำคัญ โดยเส้นทางจะผ่านแหล่งท่องเที่ยวริมแม่นํ้าเจ้าพระยา เช่น ไอคอนสยาม ล้ง 1919 เป็นต้น ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้าสู่สถานที่สำคัญของกรุงเทพมหานครได้ดียิ่งขึ้น