วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับเชิญจากรัฐบาลจีนให้เป็นตัวแทนประเทศไทยร่วมกล่าวถ้อยแถลงในเวทีระดับผู้นำของการประชุมอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้) ว่าด้วยความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน
โดยมีผู้แทนระดับผู้นำของภูมิภาคอาเซียนบวกสาม ได้แก่ รองนายกรัฐมนตรีของจีน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของกัมพูชา และรัฐมนตรีกระทรวงกิจการทางทะเลและการลงทุนของอินโดนีเซีย เข้าร่วมด้วย
นายจุรินทร์ กล่าวว่า การประชุมอาเซียนบวกสามว่าด้วยความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน เป็นหัวข้อที่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการหยุดชะงัก จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ทำให้อาเซียนบวกสามต้องหันมาร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานการผลิตมากยิ่งขึ้น
โดยลดการพึ่งพาแหล่งการผลิตเดียว และลดขั้นตอนของห่วงโซ่การผลิตให้สั้น และซับซ้อนน้อยลง ซึ่งตนได้เสนอให้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานระหว่างอาเซียนกับประเทศบวกสามอย่างเป็นรูปธรรม 4 ด้าน คือ
1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อนำไปสู่ระบบการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างกันอย่างไร้รอยต่อ โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ
2.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความสามารถพร้อมรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมขั้นสูงและสร้างทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับแรงงาน
3.การส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการทางศุลกากร เพื่อช่วยลดขั้นตอนให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
และ 4.การเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคให้แข็งแกร่ง เพื่อสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานให้แน่นแฟ้นและส่งเสริมการค้าภายในภูมิภาค โดยการจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ซึ่งความตกลง RCEP ถือเป็นความสำเร็จหนึ่งที่เป็นรูปธรรม ช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงและขยายห่วงโซ่อุปทานจากการสะสมถิ่นกำเนิดในภูมิภาคได้มากยิ่งขึ้น
การประชุมอาเซียนบวกสามว่าด้วยความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานเป็นการประชุมเฉพาะกิจที่รัฐบาลจีนจัดขึ้นภายใต้งานผู้ประกอบการเอเชียตะวันออกไท่หู ครั้งที่ 2 ณ เมืองซูโจว มณฑลเจียงซู สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยแบ่งการประชุมออกเป็น 3 ช่วง คือ การประชุมระดับผู้นำ การประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และการเสวนาในหัวข้อย่อยต่าง ๆ
อาทิ เขตการสาธิตร่วมเพื่อการพัฒนาการค้าและเศรษฐกิจเชิงนวัตกรรม การใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP และเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงภาคเอกชน และนักวิชาการที่มีชื่อเสียงของไทยเข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทอมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย – จีน และ รศ.ดร. ชโยดม สรรพศรี ประธานหลักสูตรเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมจริงจากหน่วยงานภาครัฐ สมาคมการค้า สถาบันทางการเงิน และผู้ประกอบการของจีน กว่า 500 ราย และในรูปแบบออนไลน์กว่า 1.3 ล้านราย จากประเทศอาเซียนและประเทศบวกสาม ซึ่งถือเป็นกิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 25 ปี ของกรอบความร่วมมืออาเซียนบวกสามใน 2565 นี้ด้วย
ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 การค้าระหว่างอาเซียนกับประเทศบวกสาม มีมูลค่าถึง 563,530 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 14% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในขณะเดียวกัน ในปี 2564 การลงทุนโดยตรงของประเทศบวกสามในอาเซียน มีมูลค่าถึง 32,650 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ คิดเป็น 1 ใน 4 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมดในอาเซียน