นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ที่ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฏร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ว่า สิ่งที่อยากจะชี้แจ้งมี4ประเด็น เพื่อให้เพื่อนสมาชิกฝ่ายค้านได้เห็นภาพว่ารัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหามาทุกด้าน ทั้งเรื่อง เงินเฟ้อและค่าครองชีพ ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ รัฐบาลไม่มีวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชน และขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย
ซึ่งในเรื่องเงินเฟ้อหรือของแพงต้องบอกว่าเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดทั้งโลก เพราะวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทั้งวิกฤติโควิดและสุดท้ายวิกฤตคือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ผลทำให้ราคาพลังงานแพงขึ้นทั้งโลก เฉพาะเดือน ม.ค.-มิ.ย.ปีนี้ เทียบกับปีที่แล้วทั้งปี
ราคาน้ำมันโลกเพิ่มขึ้น 60% แก๊สธรรมชาติ เพิ่มขึ้น 195% ซึ่งนี้คือตอบตอบของคำถามเบื้องต้นว่า ทำไมราคาปุ๋ยเกษตรกรถึงแพง และไม่เฉพาะในไทยแต่แพงทั้งโลก เพราะปุ๋ยมีแม่ปุ๋ยสำคัญ 3 ตัว คือ N-P-K คือ N(ยูเรีย) ทำจากแก๊สธรรมชาติ P(ฟอสฟอรัส) จากแก๊สธรรมชาติ แก๊สธรรมชาติแพงขึ้น 195% ทำให้เกิดภาวะของแพงทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย ต้องบอกว่าเงินเฟ้อดีกว่าหลายประเทศรวมถึงประเทศมหาอำนาจในทางเศรษฐกิจหลายประเทศในโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ตัวเลขเงินเฟ้อ มิ.ย. +9.1% ซึ่งไทยอยู่ในลำดับที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลกมีภาวะการเฟ้อน้อย มีการจัดอันดับเงินเฟ้อ 137 ประเทศ ประเทศไทยมีภาวะเงินเฟ้อในลำดับที่ 125 จาก 137 ประเทศของโลก น้อยกว่าไทยมีแค่ 12 ประเทศ นอกนั้นแพงกว่าไทย 124 ประเทศ
“ตัวเลขการจัดอันดับเปรียบเทียบประเทศที่ประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารได้ในราคาไม่แพง เมื่อเทียบรายได้กับราคาอาหารที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดเงินเฟ้อ ประเทศไทยได้ 81.8 จาก 100 คะแนน ถือว่าดีที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของเอเซีย ประชาชนเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสมกับรายได้ ดีกว่า จีน เกาหลี อินเดียและอาเซียน 7 ประเทศ ตัวเลขเงินเฟ้อตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาถือว่ายังต่ำกว่าหลายยุคหลายสมัยหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ที่บอกว่าไม่มีรัฐบาลไหนของแพงเท่ารัฐบาลนี้อีกแล้วไม่จริง ตอนท่านเป็นรัฐบาลแพงกว่านี้เยอะตอนท่านเป็นรัฐบาล เงินเฟ้อ+8.9 + 9.2 บางช่วงเงิขณะที่รัฐบาลนี้ ปี 62 +0.71 ปี 63 - 0.85 เพราะเจอโควิด ปี 64 + 1.23 และปีนี้ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย. +5.61 อยู่ลำดับ 125 จาก 137 ประเทศ”
ทั้งนี้ยืนยันว่ากระทรวงพาณิชย์มาดูแลราคาสินค้าบริการ ดูทั้ง 2 ด้าน ทั้งรายจ่ายและรายได้ รัฐบาลทำไปไกลและทำไปก่อนที่ท่านจะอภิปรายด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเรื่องรายจ่ายเข้าไปกำกับดูแลราคาสินค้านโยบายกระทรวงพาณิชย์ชัดเจน 1.ใช้ “วิน-วินโมเดล”ให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ เกษตรกรต้องไม่ถูกกดราคา ผู้ประกอบการต้องประกอบธุรกิจได้โดยไม่ขาดทุนจนหยุดผลิตและทำให้ปัญหาใหม่ตามมาคือของขาดตลาด และผู้บริโภคต้องไม่รับภาระจนไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องราคาสินค้าและบริการ ให้อยู่ร่วมกันได้ และมีมาตรการเชิงรุกและเชิงลึก แก้ปัญหาตั้งแต่ต้นลงลึกรายสินค้า ยึดหลัก
1.ถ้าต้นทุนไม่เพิ่มไม่ให้ขึ้นราคา 2.ตรึงราคาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่ทำได้ สร้างผลกระทบกับผู้บริโภคให้ช้าที่สุด 3.ถ้าต้นทุนสูงขึ้นจริงให้ปรับราคาแต่ต้องปรับตามโครงสร้างที่กำหนดไว้ และให้ปรับน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เมื่อไหร่ต้นทุนลดลงต้องปรับลดราคาลงมาทันที ตัวอย่างราคาน้ำมันปาล์มขวด ก่อนนี้ผลปาล์ม กก.ละ 11-12 บาท น้ำมันปาล์มขวด 70 บาท/ขวด วันนี้ผลปาล์มปรับลดเหลือ 7-8 บาท/กก. สัปดาห์ที่แล้วราคาน้ำมันปาล์มขวดปรับลดลง 5-6 บาท/ขวด สัปดาห์นี้ลงอีก 3-4 บาท วันนี้เหลือ 57.50-58 บาท/ขวด ที่ถามว่าทำไมไม่ลงถึง 40 บาท ที่ลงไม่ได้เพราะต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการเพราะสต๊อกน้ำมันต้นทุนผลปาล์มเดิม 11-12 บาทยังเยอะระบายไม่หมด ซึ่ง “วิน-วิน โมเดล” กำลังทำงาน
ถ้าพบว่ามีการค้ากำไรเกินควร จะดำเนินคดี ตั้งแต่ปี 62-64 รัฐบาลนี้ดำเนินคดีผู้ค้ากำไรเกินควร ทำผิดกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการแล้ว 1,064 คดี จำคุก 101 คดี ผลของมาตรการกระทรวงพาณิชย์ทั้งตรึงราคาและไม่อนุญาตให้ขึ้นราคา ทำให้สินค้าหลายรายการปรับลดราคาลงมา ที่บอกแพงทั้งแผ่นดินไม่จริง อาจพูดเป็นวาทะกรรม พี่น้องประชาชนหลายท่านอาจรู้สึกว่าหันไปทางไหนก็แพง ตนเข้าใจและจริงที่มีหลายรายการแพง แต่ถ้าลงลึกจะพบว่ามีหลายรายการราคาลดลง หลายราคารายการราคาเดิม หลายรายการแพงขึ้น
โดยสินค้าที่สำคัญต่อชีวิตประจำวันของประชาชน 242 รายการ มีสำรวจทุกวัน พบว่าสามารถตรึงไว้ได้ 71 รายการ ราคาลดลง 47 รายการ รวมที่ตรึงราคาเดิมและราคาลดลง 118 รายการ จาก 242 รายการ แต่สินค้าที่มีราคาสูงขึ้นกระทบพี่น้องประชาชนมาก โดยเฉพาะเกษตรกรนอกจากน้ำมันปาล์มคือ ปุ๋ย
“กระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลเข้าไปดูแลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ตรึงราคาสำคัญมาก ตั้งแต่ ธ.ค.64-ปัจจุบัน มีสินค้าขอขึ้นราคาเยอะมาก แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่อนุญาต ขอขึ้นรวม 127 ครั้ง 11 หมวดสินค้า 61 บริษัท 116 ยี่ห้อ สินค้า 936 รายการ ทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง นม ผงซักฟอก ผ้าอนามัย น้ำยาล้างจานและอื่นๆ 11 หมวด ตรึงได้ 6-19 เดือน ประหยัดรายจ่ายเงินในกระเป๋าประชาชนได้มาก ทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ตรึงราคาไว้ที่ 6 บาท ขอมา 19 เดือน เกือบ 2 ปี ประหยัดเงินได้ 20,900 ล้านบาท รวมทั้งหมด 11 หมวดที่ไม่ให้ขึ้นราคา ประหยัดเงินประชาชนได้ 98,287 ล้านบาท เกือบ 100,000 ล้านบาท
ส่วนเพิ่มรายได้ประชาชนทำทั้งประเทศ ที่บอกว่าพืชผลการเกษตรตกต่ำ รัฐบาลนี้เข้ามาราคาพืชผลการเกษตรดีเกือบทุกตัว วันนี้ราคาข้าวเปลือกมาตรฐาน 9,000-9,500 บาท/ตัน ข้าวหอมมะลิเกิน 15,000 บาท/ตัน มันสำปะหลังจากกิโลกรัมละ 1 บาทกว่า วันนี้ 3 บาทกว่า/กก. ราคายางพาราที่เคยบอก 3 โลร้อย ไม่ใช่ ยางแผ่นดิบและน้ำยางข้น 50 กว่าบาท/กก. ยางก้อนถ้วยหรือขี้ยาง หลายปีที่ผ่านมากิโลกรัมละ 10-12 บาท ทุกวันนี้ 24-26 บาท/กก. ข้าวโพดเมื่อก่อน 5-6 บาท/กก. เดี๋ยวนี้ 11-12 บาท/กก. ปาล์มน้ำมันหลายช่วงที่ผ่านมา 2-3 บาท/กก.วันนี้บางช่วง 11-12 บาท/กก. วันนี้ 7-8 บาท/กก.ราคาผลไม้ดีทุกตัว ทุเรียนหมอนทองปีนี้ขึ้นถึง 135 -150 บาท/กก. ดีกว่าปีที่แล้วที่ 117 บาท/กก.หมอนทองราคา +45% มังคุดใต้ +90% มังคุดคละ +114% เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีประกันรายได้เกษตรกรจ่ายเงินชดเชยให้อีกและมีมาตรการคู่ขนานข้าวจ่ายชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เกิดวิกฤติโควิดรัฐบาลนี้จ่ายเงินเยียวยาช่วยเกษตรกรครัวละ 5,000 บาท 3 ครั้ง ตกครัวละ 15,000 บาท รวม 3 ปี รัฐบาลช่วยนี้ช่วยเหลือเกษตรกรรวมประกันรายได้ 234,000 ล้านบาท มาตรการคู่ขนาน 15,739 ล้านบาท ไร่ละ 1,000 ได้ 157,745 ล้านบาท เยียวยาโควิด 113,304 ล้านบาท ผลไม้ 1,352 ล้านบาทรวม 3 ปี รัฐบาลที่ช่วยเกษตรกรรวมทั้งหมด 522,378 ล้านบาท เกษตรเกือบ 10 ล้านครอบครัว เพราะราคาพืชผลเกษตรดีส่งผลให้ตัวเลขดัชนีรายได้เกษตรกรสูงขึ้น ปี 62 ดัชนีรายได้เกษตรกร +1.42 ปี 63 + 4.23 ปี 64 + 3.29
และปีนี้ 5 เดือน ม.ค.-พ.ค.+12.44% ถ้าเทียบกับยุคที่ท่านเป็นรัฐบาล ที่บอกว่าดูแลเกษตรกรดีที่สุด เกษตรกรรักที่สุดที่พูดในสภาเมื่อเช้า ท่านประเมินเอง แต่เมื่อดูรายได้ยุคท่าน ปี 55 ดัชนีรายได้เกษตรกร-7.91 ปี 56 - 2.28 ตัวเลขดัชนีรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นมีผลทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของประเทศไทย เปรียบเทียบทั้งพนักงานเอกชน ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ คนรับจ้างอิสระ เกษตรกร พนักงานของรัฐ นักศึกษา ผู้มีงานทำและไม่มีงานทำ ข้าราชการบำนาญรายภาค พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในกลุ่มที่สูงสุดคือพนักงานของรัฐ เพราะมีเงินเดือนประจำ 6 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย. ลำดับที่ 2 คือเกษตรกร เพราะราคาพืชเกษตรดีขึ้น ความเชื่อมั่นจึงดีขึ้น และสูงกว่านักธุรกิจผู้ประกอบการ
ส่วนการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ กระทรวงพาณิชย์จับมือกับภาคเอกชน ตั้ง กรอ.พาณิชย์ (คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์)ส่งออกทำเงินเข้าประเทศ ที่บอกส่งออกนักธุรกิจรวยไม่จริงทั้งหมด นักธุรกิจรวยส่วนนึงถ้าส่งออกดี แต่เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ใช้แรงงานเกษตรกร SMEs Micro-SMEs วิสาหกิจชุมชน ที่แปรรูปสินค้าเกษตรและส่งออกสุดท้ายเกษตรกรได้ประโยชน์เต็มๆ
โดยการส่งออกปีที่แล้วทั้งปีทำเงินให้ประเทศ 8.5 ล้านล้านบาท +17.1% และปีนี้ 5 เดือน ส่งออก 4 ล้านล้านบาท +12.9 ค้าชายแดน ที่เราเร่งเปิดด่านจากที่เดิมปิด 97 ด่าน เปิดแล้ว 59 ด่าน และจะทยอยเปิดต่อไป ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ค้าชายแดนปีนี้ 5 เดือนทำเงินเข้าประเทศ จากการส่งออก 267,052 ล้านบาท +17.24% ทำเงินให้กับประเทศ
ขอกลับมาเรื่องปุ๋ย ขอทำความเข้าใจ หลายคนพูดเรื่องปุ๋ยและตนจำเป็นต้องชี้แจงปุ๋ยแพงจริง แพงเยอะมาก ตั้งแต่ต้นปี 64 แต่ไม่เฉพาะประเทศไทยแพงทั้งโลก ปุ๋ยทำจากแก๊สที่ราคาเพิ่มขึ้น 195% และขนส่งด้วยน้ำมันมายังประเทศไทยที่ราคาเพิ่มขึ้น 60% ปุ๋ยต้องนำเข้า 100% ผลิตเองไม่ได้ ซึ่งราคาปุ๋ยโลกเพิ่มขึ้นถึง 236% แต่ราคาปุ๋ยไทยเพิ่มขึ้น 130% น้อยกว่าปุ๋ยโลกเกือบหนึ่งเท่าตัว ส่งผลให้ราคาปุ๋ยเมืองไทยแม้แพงขึ้นเยอะแต่แพงน้อยกว่าหลายประเทศ เดือน ก.ค.นี้ 15 วัน ปุ๋ยยูเรียราคาถูกเป็นลำดับที่ 4 ของประเทศเกษตรกรรมสำคัญของโลก โพแทสเซียมไทยถูกเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศเกษตรกรรมสำคัญของโลก
“ต้องบอกว่ากระทรวงพาณิชย์ช่วยเกษตรกรในเรื่องราคาปุ๋ย สิ่งแรกคือจัดหาปุ๋ยราคาถูกช่วยเกษตรกร 4.5 ล้านกระสอบ ตั้งแต่ ก.ค.-ธ.ค.ปลายปีที่แล้ว ราคาถูกกว่าตลาด 20-50 บาท/กระสอบ ขายได้ 3,150,000 กระสอบ ช่วยสหกรณ์วิสาหกิจได้ระดับหนึ่ง ประการที่สอง พยายามตรึงราคาปุ๋ยในประเทศไว้หนึ่งปีเต็ม ช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 64 ภายใต้โครงสร้างราคาปุ๋ยเดิม ที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 54 ถึง 11 ปีที่แล้ว สุดท้ายต้นทุนสูงขึ้นเยอะเมื่อตรึงราคาปุ๋ยมากเกิดปัญหา นำเข้าปุ๋ย -48% เดือน ก.พ.-51% ถ้าตรึงราคาไว้มากๆปุ๋ยนำเข้าลด 50% ปัญหาที่ตามมาคือปุ๋ยจะขาด ต้องรีบแก้ด้วยการปรับโครงสร้างราคาใหม่ เพื่อให้ผู้นำเข้ารีบนำเข้าปุ๋ยแก้ปัญหาปุ๋ยขาด แม้ต้นทุนจะแพง เดือน มี.ค.การนำเข้าปุ๋ยเพิ่ม 59% และ เม.ย.เพิ่มขึ้น 29% ส่วน พ.ค.-45% เพราะเราตรึงราคาดึงเวลาไม่ประกาศโครงสร้างใหม่เพื่อช่วยเกษตรกรสุดท้ายปลาย พ.ค. ต้องปรับโครงสร้างราคาใหม่ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง แต่โครงสร้างราคาใหม่สัดส่วนกำไรลดลงจาก ปี 54 ที่เป็นโครงสร้างเดิมและเร่งหาแหล่งปุ๋ยราคาถูกและแหล่งปุ๋ยใหม่ เพื่อป้องกันปุ๋ยขาด
ตอนนี้ปุ๋ยแพงไปลดราคาปุ๋ยโลกไม่ได้ หลังท่านนายกฯเปิดสัมพันธไมตรีกับซาอุฯ ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ตามไปเจรจากับซาอุฯให้นำเข้าปุ๋ยราคาพิเศษจากซาอุฯวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์จัดจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้นำเข้าไทยกับผู้ส่งออกปุ๋ยซาอุฯ ตั้งเป้าซื้อ 800,000 ตัน วันนี้สำเร็จแล้ว 324,000 ตัน 2.รัสเซีย ได้มีการจัดเจรจาระหว่างผู้นำเข้าไทยกับผู้ส่งออกปุ๋ยรัสเซีย ผู้นำเข้าไทยสามารถนำเข้าได้ 72,000 ตัน แต่ติดอุปสรรคในการเพิ่มยอด เพราะ 1.ติดเรื่องระบบการโอนเงิน 2.ระบบการขนส่ง 3.บริษัทประกันภัยการขนส่งหลายบริษัทไม่รับรอง และสุดท้ายค่าเงินบาทอ่อน ทำให้ราคานำเข้าปุ๋ยจากรัสเซียแพงขึ้น เพราะเงินบาทอ่อน แต่ไม่ลดความพยายามเจรจารัสเซียบอกจะเพิ่มโควตาให้ไทย 1 เท่าตัว จาก 500,000 ตัน เป็น 1 ล้านตัน และล่าสุดสั่งการให้ฑูตพาณิชย์ทั่วโลกทำบัญชีผู้ส่งออกปุ๋ยทั้งโลกจะส่งให้ผู้นำเข้าปุ๋ยไทยจัดให้พบปะเจรจาวันที่ 25-27 ส.ค. นี้ เพื่อแก้ปัญหาปุ๋ยให้เกษตรกรเพื่อให้ 1.มีหลักประกันว่าแม่ปุ๋ยแม้ราคาแพงแต่ปุ๋ยไม่ขาดแน่นอน 2.ถ้าราคาปุ๋ยโลกปรับลดลง ราคาปุ๋ยไทยต้องปรับลดลงตามต้นทุนที่แท้จริงเหมือนน้ำมันปาล์มขวด”
“และที่พูดถึงหนี้สินเกษตรกร มีม็อบมากระทรวงการคลังและรัฐบาลนี้ไม่สนใจแก้ไขปัญหาเพราะมองว่าม็อบเป็นการเมือง ไม่จริงรัฐบาลชุดนี้ไม่มองว่าม็อบเกษตรกรเป็นการเมือง ตนเป็นคนเดินทางไปพบม็อบเกษตรกรที่กระทรวงการคลังด้วยตัวเอง ซึ่งม็อบต้องการให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหนี้สินให้และช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาพอใจวันที่ผ่านมาก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เกษตรกรมาขอบคุณท่านนายกฯและมอบกระเช้าดอกไม้ขอบคุณให้ตนด้วย เพราะว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลชุดหนึ่งที่สนใจเอาใจใส่แก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกร ซึ่งท่านนายกฯมอบหมายให้ตนเป็นประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 42 ตอนท่านชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 และตนเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูในยุคนั้น เดินหน้าแก้ปัญหาจนถึงวันนี้วัตถุประสงค์สำคัญคือแก้หนี้ให้กับเกษตรกร เข้าไปซื้อหนี้ให้มาเป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูจะได้ไม่เสียดอกแพง ตอนนี้เสียดอกเพียง 0% ผ่อนชำระได้ยาวนาน ไม่ยึดที่ดินทำกิน ถ้าหมดเมื่อไหร่ก็คืนโฉนด เหมือนที่ตนเดินทางไปคืนโฉนดให้ทั่วประเทศ และไปซื้อทรัพย์ ให้เป็นของกองทุนฯและให้เกษตรกรเจ้าของที่ดินเดิมผ่อนชำระกับกองทุน หมดเมื่อไหร่เอาที่ดินกลับไปป้องกันการสูญเสียที่ดินทำกินของเกษตรกร และยังมีงบประมาณในการฟื้นฟูอาชีพ ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาแก้หนี้ให้เกษตรกรได้แล้ว 180,000 ราย ใช้เงินทั้งหมด 8,384 ล้านบาท ฟื้นฟูชีวิตเกษตรกร 546,000 ราย ใช้เงินทุ่มช่วยเกษตรกร 1,146 ล้านบาท รวมช่วยเกษตรกรแล้ว 726,000 ราย ใช้เงิน 9,500 ล้านบาท ล่าสุดท่านนายกฯจัดงบกลางให้ 2,000 ล้านบาท ให้กองทุนฟื้นฟูฯเดินหน้าต่อไป”
ประเด็นสุดท้าย ที่เพื่อนสมาชิกอภิปรายก่อนหน้านี้ว่ารัฐบาลนี้เข้ามาทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตกต่ำลง โดยเฉพาะสู้เวียดนามไม่ได้ ขอชี้แจงว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยไม่ได้น้อยลง โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญ World Economic Forum(WEF) จัดลำดับขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ 141 ประเทศ ปี 62 ไทยอยู่ลำดับที่ 40 เวียดนามอยู่ลำดับที่ 67 และขีดความสามารถการแข่งขันที่ธนาคารโลกจัดขึ้น ease of doing business คือความง่ายในการลงทุนทำธุรกิจในประเทศจาก 190 ประเทศ ประเทศไทยทำธุรกิจง่ายลงทุนง่ายในปี 62 อยู่ลำดับที่ 27 เวียดนามอยู่ลำดับที่ 69 ซึ่งไทยดีกว่า ปี 63 สุดท้ายไทยอยู่ลำดับดีขึ้นจากเดิม จากลำดับที่ 27 เป็นลำดับ 21 เวียดนามจากลำดับที่ 69 เป็นลำดับที่ 70
“กำลังเตรียมการสร้างอนาคตให้กับประเทศด้วยการทำ FTA เพิ่มเติมอีกหลาย FTA ไม่ว่าจะเป็นไทย-อียู ไทย-UK และล่าสุดไทยกับ EFTA (สมาคมการค้าเสรียุโรป) กลุ่มประเทศนอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์และลิกเตนสไตน์ เปิดตัวทำ FTA ต่อไปเพิ่มมูลค่าการส่งออกทำรายได้ให้กับประเทศ และสำคัญเป็นยุคแรกที่เราลงลึกถึงขนาดมี Mini-FTA ทำกับมณฑลและรัฐ กับไห่หนาน ของจีน กานซู่ของจีน รัฐเตลังกานา ของอินเดีย และโคฟุ ของญี่ปุ่น และสุดท้ายเพิ่งเสร็จ Mini-FTA กับปูซานของเกาหลี ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่และเป็นเมืองเศรษฐกิจลำดับที่ 2 รองจากโซลของเกาหลี และจะทำกับเซินเจิ้น(จีน) คยองกี(เกาหลี) กรณาฏกะ/มหาราษฏระ/เกรละ/อัสสัม/รัฐคุชราต(อินเดีย) เพื่อทำเงินให้กับประเทศต่อไป”
ขอย้ำว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญทั้งการเข้าไปดูแลรายจ่ายของประชาชนและดูแลเรื่องสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งรายได้ประชาชนรายได้ประเทศและทำทั้งในวันนี้และเพื่ออนาคตในวันข้างหน้า