นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจเคลื่อนตัวได้ไม่ค่อยดี คนส่วนใหญ่จะเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคก่อนที่จะเลือกงานศิลปหัตถกรรมเพราะปัจจุบันงานศิลปหัตถกรรมไทยมีอยู่หลายระดับราคา เช่น ผ้าไทย ก็มีทั้งราคาที่สูงหลาละเกือบแสน
หรือ จะเป็นผ้าฝ้าย ราคาหลาหลักร้อย งานเครื่องประดับ มีกลุ่มราคาและกลุ่มผู้ต้องการซื้อที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งสำคัญอยู่ที่กระบวนการเลือกขายสินค้าให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้งานศิลปหัตถกรรมไทยสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันได้
โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าจากเหล่าคนดังหรือดาราศิลปิน ซึ่งเป็นการสร้างกระแสให้คนรุ่นใหม่หันมาใช้งานศิลปหัตถกรรมไทยเพิ่มมากขึ้น โดยจะใช้ Friend of sacit ที่เป็นศิลปิน ดารา ชื่อดังระดับประเทศ มาเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ในการส่งเสริมการใช้งานศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งจะช่วยให้คนรุ่นใหม่เกิดความสนใจ เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการเลือกซื้อและเลือกใช้งานศิลปหัตถกรรมไทยในชีวิตประจำวัน
โดยสร้างการรับรู้และสื่อสาร ผ่านแพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดียใหม่ๆ ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน และอีกกิจกรรม คือ การประกวดผ้าไทย ใส่ได้ทุก Gen ที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาส่งผลงานการออกแบบตัดเย็บชุดจากผ้าไทย และส่งผลงาน เข้ามาร่วมประกวดชิงเงินรางวัล และมีโอกาสต่อยอดทางธุรกิจกับแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำระดับประเทศ โดยเป็นการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้มาลองเรียนรู้ในกระบวนการและขั้นตอนของการสร้างสรรค์ รับรู้ในคุณค่าของงานศิลปหัตถกรรมไทย และได้ทำงานร่วมกันกับช่างฝีมือและชุมชนผู้ผลิต
“การใช้soft power ทำให้กระแสในงานหัตถกรรมพลิกฟื้นขึ้น เช่น ละครเรื่องบุพเพสัณนิวาส และงานอุ่นไอรัก ที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจใส่ผ้าไทย หรืออุดหนุนเครื่องประดับของไทย ๆ เรียกได้ว่าเป็นการสร้างกระแสให้เกิดความชื่นชอบในงานศิลปหัตถกรรมไทย จนเกิดการอยากใช้ อยากซื้อ ซึ่งถือว่าเป็น soft power ที่ดี ซึ่งจะ ยกระดับงานศิลปหัตถกรรมไทยให้สามารถเข้าไปอยู่ในใจของผู้คนได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังนำมาตอกย้ำผ่านสื่อที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนทุกช่วงวัย และความชื่นชอบต่างกัน ซึ่งหากตอกย้ำไปเรื่อยๆ จะกลายเป็นพลังให้งานหัตถกรรมไทยไม่สูญหายไป”
สำหรับมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยเฉพาะเดือนมิถุนายนมีมูลค่า 28,311 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 18.72% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ภาพรวม6เดือน(มกราคม-มิถุนายน)มีมูลค่ารวม 164,579 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น33.42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่งออกกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องเงิน เครื่องทอง มูลค่ามากที่สุด 80,268 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 43.48 %
ทั้งนี้โดยตลาดส่งออกหลักที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป โดย สหรัฐอเมริก มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด 9,334.39 ล้านบาท รองลงมาเป็น เยอรมนี 2,157 ล้านบาท ญี่ปุ่น 1,683 ล้านบาท สหราชอาณาจักร 1,600ล้านบาท และฮ่องกง 1,071.ล้านบาทส่วนประเทศที่มีอัตราการขยายตัวมากที่สุด คืออินเดีย รองลงมาเป็น มาเลเซีย เมียนมา สิงคโปร์ และ กัมพูชา
ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุดคือเครื่องประดับแท้ทำด้วยทองมีมูลค่า 4,993.65 ล้านบาท เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน มีมูลค่า4,870.48 ล้านบาท เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนมีมูลค่า 4,637.39 ล้านบาท เสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากฝ้ามีมูลค่า1,920.37 ล้านบาท และเสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากวัตถุทออื่น ๆ 1,718.92 ล้านบาท
ทั้งนี้ sacit ได้รับผลคะแนน ITA ปี 2565 ภาพรวมหน่วยงาน 90.13 คะแนน หรือ ระดับผลการประเมิน : A ซึ่งได้คะแนนดีขึ้นทุกปี โดยปี 2564 ได้ 86.77 คะแนน ปี 2563 ได้ 83.14 คะแนน และมีลำดับดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานภายนอก คือ อยู่ในอันดับที่ 44 จากกลุ่มองค์การมหาชนทั้งหมด 57 หน่วยงาน (ปี 2564 มีทั้งหมด 55 หน่วยงาน อยู่อันดับที่ 54) , อยู่ในอันดับที่ 28 จากกลุ่มองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งทั้งหมด 35 หน่วยงาน (ปี 2564 อยู่อันดับที่ 35 ท้ายสุด) และอยู่ในอันดับที่ 9 จากกลุ่มกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมด 12 หน่วยงาน (ปี 2564 อยู่อันดับที่ 12 ท้ายสุด)
“sacit มุ่งขับเคลื่อนงานศิลปหัตถกรรมไทยสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ เน้นย้ำ ภารกิจสำคัญ สืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริม บูรณาการทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อให้งานศิลปหัตถกรรมไทยสามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายอย่างครอบคลุม สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพให้แก่ผู้สร้างสรรค์ ควบคู่การสร้างคุณค่าในงานศิลปหัตถกรรมไทย”