กองทัพจีนขยายเวลาซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันออกไปอีก 1 เดือน เพื่อตอบโต้สหรัฐฯและปิดล้อมเศรษฐกิจไต้หวัน หลังนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯเดินทางเยือนไต้หวันโดยไม่สนใจคำคัดค้านของจีนที่ระบุเป็นการล่วงล้ำอธิปไตย และไม่ให้เกียรติกับหลักการจีนเดียว
ล่าสุด (11 ส.ค.) แม้ทางกองทัพจีนได้ยุติการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันแล้ว แต่ยังคงเดินหน้าขยายพื้นที่ซ้อมรบไปที่ทะเลโป๋ไห่ และทะเลเหลืองทางตอนเหนือของไต้หวันไปตามกำหนดการเดิม ซึ่งหมายถึงทางจีนยังมีการปิดล้อมน่านฟ้า-น่านน้ำใกล้เกาะไต้หวัน รวมถึงการปิดล้อมทางเศรษฐกิจ จากสายการบิน สายเดินเรือต่าง ๆ ยังต้องหลีกเลี่ยงเส้นทางนี้ต่อไป จากเกรงไม่ปลอดภัย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่จีนได้ขยายเวลาซ้อมรบออกไปอีก 1 เดือน และมีการแซงซั่นทางเศรษฐกิจไต้หวันที่มีจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุด ทั้งการสั่งห้ามนำเข้าสินค้าอาหารแปรรูปมากกว่า 2,000 รายการ ที่สำคัญจีนยังได้ระงับการส่งออกทรายธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือ “ชิป” ที่ใช้ในระบบประมวลผลในหลากหลายอุตสาหกรรมที่เป็นไฮเทคโนโลยี เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ หุ่นยนต์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ
ทั้งนี้สัดส่วนกว่า 90% ของทรายธรรมชาติชนิดพิเศษ (ทรายควอตซ์ / ทรายซิลิก้า) ที่ไต้หวันใช้ในการผลิตชิปมาจากจีน ปัจจุบันผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของไต้หวันและเป็นรายใหญ่สุดของโลก คือ TSMC (ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอมปานี) มีลูกค้าในมือ 500-600 ราย มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 54% รวมบริษัทผู้ผลิตไต้หวันอีก 2-3 บริษัท มีส่วนแบ่งตลาดโลกรวมกัน 63-64%
ที่ต้องจับตาและน่าห่วง คือหากจีนสิ้นสุดการซ้อมรบอีก 1 เดือนนับจากนี้ หากมีการขยายเวลาออกไปอีก เช่นคราวละ 1 เดือนไปเรื่อย ๆ อาจทำให้สต๊อกวัตถุดิบของผู้ผลิตชิปไต้หวันขาดแคลน และไปต่อไม่ได้ ขณะที่สินค้า (ชิป) ใหม่ที่ผลิตเสร็จ อาจมีปัญหาการส่งออกจากไต้หวันตามมา เพราะเวลานี้จีนซ้อมรบทำให้การขนส่งชะงัก อาจทำให้ชิปจากไต้หวันในล็อตที่จะส่งออก 1 เดือนนับจากนี้หายไปได้
“สินค้าหมวดยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฮเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยต้องใช้ชิปเป็นส่วนประกอบมีความเสี่ยงจะเกิดซัพพลายเชนดิสรัปชั่น และอาจทำให้ส่งออกลดลง ซึ่งผลกระทบจะขึ้นอยู่กับมาตรการของจีนที่มีต่อไต้หวันจะเข้มข้นหรือยาวนานแค่ไหน ล่าสุดทาง ส.อ.ท. ได้ให้สมาชิก 45 กลุ่มอุตสาหกรรมไปตรวจสอบว่า มีชิปอยู่ในสต๊อกเท่าไหร่ ซึ่งปกติทั่วไปของอุตสาหกรรมต้องมีสต๊อกวัตถุดิบต่ำสุดประมาณ 1 เดือน และส่วนใหญ่อยู่ใน 1-3 เดือน เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็ต้องคาดเดาสถานการณ์ และไปวางแผนการบริหารสต๊อก วางแผนการผลิต รวมถึงวางแผนจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งอื่นเพิ่ม ซึ่งคงเป็นเรื่องยากที่จะไปหาที่ไหนในปริมาณมาก เพื่อมาทดแทนการนำเข้าจากไต้หวันได้ในเวลาอันรวดเร็ว”
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไต้หวัน สัดส่วน 30% มูลค่าส่งออกของไต้หวันไปจีน 1.88 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และไต้หวันนำเข้าจากจีนสัดส่วน 22% ในส่วนของไทยปี 2564 มีมูลค่าการค้ากับไต้หวัน 4.83 แสนล้านบาท
“ภายใต้สถานการณ์ตึงเครียด เศรษฐกิจไต้หวันได้รับผลกระทบการนำเข้าสินค้าจากไทยน่าจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยไทยส่งออกไปไต้หวันปีละ 1.3-1.5 แสนล้านบาท แต่นำเข้ามากกว่า แต่ขณะเดียวกันไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าไปตลาดจีนแทนที่สินค้าจากไต้หวันได้มากขึ้น”
นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ปัญหาขาดแคลนชิปในอุตสาหกรรมยานยนต์ยังมีอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะกลับมาอยู่ในภาวะปกติเมื่อไหร่ ที่ผ่านมารถยนต์โตโยต้าหลายรุ่นไม่สามารถส่งมอบได้ทันกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งต้องขอโทษด้วย แต่ทางบริษัทจะพยายามทำอย่างดีที่สุด
สำหรับโตโยต้า ทำยอดขายในครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.65) ได้ 142,032 คัน เติบโต 21.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ส่วนเป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 380,000 คัน เพิ่มขึ้น 29.8% ส่งผลให้ปริมาณการผลิตรถยนต์ของโตโยต้าในไทยปีนี้ มีแนวโน้มดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยอยู่ที่ระดับ 659,400 คัน หรือเพิ่มขึ้น 28.3%
ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิต และชิปที่กำลังจะกลับมาดีขึ้น โดยหลายบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างปรับตัวและวางแผนงานเอาไว้แล้ว แต่เมื่อต้องมาเจอกับสถานการณ์ไต้หวัน-จีน ซ้ำเข้าไปอีก ย่อมส่งผลต่อซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมยานยนต์แน่นอนหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อ ทั้งนี้ปัญหาซัพพลายทั่วโลกที่ขาดแคลน การขนส่งโลจิสติกส์ ต้นทุนสินค้าต่าง ๆ ที่สูงขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่กระทบต่อการผลิตและการส่งออกรถยนต์
“จากข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้บริษัทต้องปรับเป้าหมายการขายลดลงเหลือ 40,000 คันในปีนี้ (เดิมคาดไว้ 50,000 คัน) ส่วนตลาดรวมน่าจะทำได้ประมาณ 850,000 คัน” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
ด้านแหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นรายหนึ่ง กล่าวว่า ความตึงเครียดระหว่างไต้หวัน-จีน จะกระทบกับซัพพลายเชนโลก และอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างแน่นอน เพียงแต่ตอนนี้หลายบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยังมีสต๊อก และสามารถบริหารจัดการได้ระดับหนึ่ง
“ปัญหาชิปขาดแคลนรอบนี้ จะหนักกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา เพราะจีนตั้งใจบีบไต้หวันที่เป็นแหล่งผลิตชิปรายใหญ่ของโลก และถ้าสถานการณ์ไม่สงบโดยเร็ว จะส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตในหลาย ๆ อุตสาหกรรมแน่นอน” แหล่งข่าวกล่าว
นายพิชเยนทร์ หงษ์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ใช้ชิปที่มีนาโนมิเตอร์ต่ำระดับ 10 นาโนมิเตอร์ลงมา เช่น 5 นาโนมิเตอร์ 7 นาโนมิเตอร์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ รวมถึงในอุตสาหกรรมรถยนต์ กลุ่มสินค้าไฮเทคโนโลยีที่เป็น S-Curve ขณะที่กลุ่มสินค้าภายในบ้าน หรือ Home Appliance (HA) เช่น ตู้เย็น ไมโครเวฟ ฯลฯ ไม่มีปัญหาเพราะชิปที่ใช้ยังสามารถนำเข้าจากจีนได้
“อุตสาหกรรมที่ใช้นาโนมิเตอร์ต่ำ จะกระทบ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ อุตสาหกรรมรถยนต์อาจมีปัญหาบ้างเพราะมีกำลังผลิตค่อนข้างมาก รวมไปถึงรถยนต์อีวี เพราะไมโครชิปเป็นอุปกรณ์สำคัญ หากไม่มีก็จะทำให้รถยนต์อีวีทำงานได้ไม่เต็มศักยภาพ”
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรมปรับตัวมานานแล้ว โดยเฉพาะการถูกดิสรัปชั่นด้านการผลิต จึงเชื่อว่าผลกระทบครั้งนี้ แน่นอนว่าอาจกระทบบ้าง แต่จะไม่รุนแรงเท่ากับครั้งก่อนในช่วงสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ในปลายปี 2020 ซึ่งหลายบริษัทต้องเจอวิกฤต ชิปขาดอย่างหนัก ทำให้ต้องใช้เวลาในการผลิตนานขึ้น ซัพพลายเชนต้องลากยาวไป 90-120 วัน
นายนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์คอมพิวเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่จากประเทศไต้หวัน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลจากบริษัทแม่เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างจีน-ไต้หวัน ที่ผ่านมาการผลิตหน่วยประมวลผลเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ ไม่เกิดปัญหาขาดตลาด ทั้งยังมีการวางแผนการผลิตไว้ล่วงหน้าแล้ว ทำให้ไม่กระทบกับการผลิตพีซี และโน้ตบุ๊กของเอเซอร์ ที่มีฐานการประกอบเครื่องในจีนส่งออกไปทั่วโลก
“ในระยะสั้นยังไม่มีผลกระทบอะไรเกิดขึ้น เนื่องจากมีการวางแผนการผลิตไว้ล่วงหน้า และไม่มีปัญหาเรื่องชิปขาดตลาด อย่างไรก็ตามเชื่อว่าปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะคลี่คลายอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ก็เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้น”
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3809 วันที่ 14 -17 สิงหาคม 2565