ครบรอบ 1 ปี หลังสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาทตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 ภาพรวมเงินฝากและผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองยังเติบโตต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายตัวของตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจส่งผลต่อความต้องการสินเชื่อ ทำให้สถาบันการเงินระดมเงินฝากเพิ่มขึ้น สถาบันการเงินหลายแห่งยังมีการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากใหม่ เพื่อล็อกต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก(สคฝ.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อัตราเงินฝากในระบบเติบโตต่อเนื่อง ยกเว้นเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาทที่ลดลง 40,470 ล้านบาทหรือ 1.46% โดยล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2565 มีผู้ฝากได้รับการคุ้มครองทั้งสิ้น 87.43 ล้านรายเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านรายหรือ 1.86% จากสิ้นปี 2564 ที่มีผู้ฝากเงิน 58.83 ล้านราย โดยที่ 96% ของผู้ฝากที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผู้ฝากรายย่อย ที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท
ขณะที่เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองมีทั้งสิ้น 16.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.96 แสนล้านบาทหรือ 3.18% จากสิ้นปี 2564 ที่มียอดเงินฝาก 15.59 ล้านล้านบาท โดยเงินฝากเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ฝากเกือบทุกกลุ่ม ยกเว้นผู้ฝากกลุ่มองค์กรภาครัฐ โดยจำนวนเงินฝากเพิ่มขึ้นสูงในกลุ่มผู้ฝากบุคคลธรรมดา กลุ่มธุรกิจ และกองทุนต่างๆ สถาบันการเงินในประเทศ
นอกจากนี้พบว่า เงินฝากขยายตัวในเกือบทุกระดับวงเงินฝาก โดยเงินฝากที่เพิ่มขึ้นเกินครึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในระดับเงินฝากวงเงินสูงกว่า 25 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 5.92% ทั้งในส่วนของภาคธุรกิจที่อาจชะลอการลงทุนในช่วงภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน และส่วนหนึ่งจากการนำเงินมาพักไว้ในบัญชีเงินฝากสำหรับลูกค้ากลุ่มกองทุนต่างๆ สถาบัน
สำหรับผู้ฝากเงินมีอัตราขยายตัวสอดคล้องกับเศรษฐกิจช่วงคลี่คลายการระบาดของโควิด-19 โดยผู้ฝากทั่วไปวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทจะได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวน เติบโตขึ้นประมาณ 1.83% หรือเพิ่มเป็น 85.66 ล้านรายคิดเป็น 97.97% ของผู้ฝากเงินทั้งระบบ อย่างไรก็ตาม วงเงินฝากตั้งแต่ 1 ล้านบาท,1-3 ล้านบาทหรือวงเงิน 3-5 ล้านบาท 5-10 ล้านบาท จำนวนรายเติบโตขึ้น 3-5%
“ปัจจุบันประชาชนมีความเชื่อมั่นในระบบการเงินอย่างชัดเจน เห็นได้จากการเติบโตทั้งจำนวนบัญชีและจำนวนเงินฝาก ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากความกังวลสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมทั้งการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยังระมัดระวังในการใช้จ่ายที่สำคัญยังสะท้อนการออมของประชาชนที่เพิ่มขึ้นด้วย” นายทรงพลกล่าว
ส่วนทิศทางในครึ่งหลังปี 2565 นายทรงกล่าวว่า เงินฝากจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง ถึงผู้ฝากรายย่อยอาจมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูงและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้ผู้ฝากรายย่อยใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและมีเงินออมน้อยลง และช่วงที่ผ่านมา มีทางเลือกลงทุนในรูปแบบอื่นๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ภาคเอกชน สลากออมทรัพย์ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าแทน คาดว่าทั้งปี 65 เงินฝากจะเติบอยู่ที่ 4-5% ใกล้เคียงกับปีก่อนและใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19
นายทรงพลกล่าวว่า ปัจจุบันสคฝ.มีเงินกองทุน 1.34 แสนล้านบาท โดยการบริหารพอร์ตกองทุนยังเน้นความมั่นคงปลอดภัยของการลงทุนและสภาพคล่อง ส่วนผลตอบแทนสอดคล้องกับพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรของธปท. ขณะที่สคฝ.จะได้รับเงินนำส่งจากสถาบันการเงินอัตรา 0.01% เฉลี่ยต่อปีประมาณ 1,600 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้สคฝ.ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ดำเนินการให้ความรู้กับประชาชนในส่วนของการออมและบัญชีประเภทไหนที่ได้รับความคุ้มครองบ้าง ซึ่งประชาชนสนใจฝากเงินและสนใจออมเงินเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังมีเงินฝากไม่มาก โดยจะเห็นว่า ประชาชนที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาทมีถึง 85.6 ล้านรายคิดเป็น 98% จากทั้งหมด 87 ล้านราย ดังนั้น คนที่มีเงินเกิน 1 ล้านบาทมีไม่ถึง 2 ล้านราย ซึ่งกลุ่มนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ดังนั้นเงินลงทุน จึงถูกนำมาพักในบัญชีเงินฝาก
“ประชาชนคนไทยมีความเข้าใจเรื่องเงินฝากและการได้รับความคุ้มครองมากขึ้น ส่วนรายที่มีเงินฝากจำนวนมากสามารถกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์หรือตราสารอื่นเพิ่มเติม เพื่อหาผลตอบแทนเหมาะสม ซึ่งต้องพิจารณาทางเลือกในการลงทุน เพราะช่วงนี้ตลาดหรือการลงทุนในสินทรัพย์อื่นนอกเหนือจากเงินฝากนั้นมีความผันผวน” นายทรงพลกล่าว
ขณะที่ในแง่ของเงินฝากดิจิทัล ซึ่งเป็นบัญชีเงินบาท แม้ไม่มีสมุดเงินฝากก็อยู่ในข่ายได้รับความคุ้มครอง แต่ปัจจุบันบัญชีเงินฝากดิจิทัลยังมีเงินฝากไม่สูงนักโดยอาจต้องใช้เวลาอีกระยะ
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,809 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2565