หลังจากเกิดประเด็นที่มีข้อโต้แย้งในสื่อสังคมออนไลน์ #ล้างหนี้ กยศ. และการล่ารายชื่อเพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายยกเลิกหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ล่าสุด กยศ. ได้ออกมาชี้แจงรายละเอียดการดำเนินงานของกองทุน โดยมีข้อมูลสำคัญในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับกองทุน ดังนี้
รูปแบบการดำเนินงานของกองทุน กยศ.
กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการในลักษณะทุนหมุนเวียนที่ไม่ได้มีการแสวงหาผลกำไร เพื่อให้โอกาสทางการศึกษากับนักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์โดยการให้กู้ยืมเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ต่อปี และให้ระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 15 ปี
สถานะของกองทุน กยศ.
อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานจองกองทุน ซึ่งมีเงินหมุนเวียนจากการชำระคืนกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้กองทุนมีเงินให้นักเรียน นักศึกษารุ่นน้องกู้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นมา โดยในปีการศึกษา 2565 กองทุนได้เตรียมเงินกว่า 38,000 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้กู้ยืมจำนวนกว่า 600,000 ราย
แนวทางการแก้ปัญหาต้องทำอย่างไร
กองทุน กยศ. แจ้งว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายให้มีความผ่อนปรนและช่วยเหลือลดภาระของผู้กู้ยืม โดยจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ การแปลงหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระและลดอัตราเบี้ยปรับให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
ขณะนี้กองทุนได้ขยายระยะเวลามาตรการลดหย่อนหนี้ช่วยเหลือผู้กู้ยืมต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ดังนี้
นอกจากนี้ กองทุนได้มีมาตรการชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี ชะลอการบังคับคดีไว้ เว้นแต่คดีที่จะใกล้ขาดอายุความ และงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้กู้ยืม และ/หรือผู้ค้ำประกันอีกด้วย
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ยอมรับว่า ที่ผ่านมากองทุน กยศ. เป็นหน่วยงานที่ให้โอกาสและช่วยเหลือผู้กู้ยืมมาโดยตลอด ซึ่งการยกเลิกหนี้ กยศ. ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาการเข้าถึงการศึกษา นอกจากจะส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินแล้ว
ยังส่งผลต่อบรรทัดฐานของสังคมด้านความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบและวินัยทางการเงินของคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นอนาคตของประเทศ โดยหากยกเลิกหนี้ดังกล่าว จะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา
“กองทุนขอยืนยันว่า กองทุนจะเป็นหลักประกันให้ทุกครอบครัวว่าน้องๆ ที่ขาดแคลนสามารถกู้เงินได้ทุกคนโดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา” นายชัยณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย