ในงานสัมมนา HEALTH & WEALTH FORUM สร้างสุขก่อนวัย อยู่ดี /สุขภาพดี / การเงินดี จัดโดยฐานเศรษฐกิจ กรุงเทพธุรกิจ SPRiNG และเนชั่นทีวี ในการเสวนา Session 3 : นวัตกรรม สุขภาพดี
นพ.ธนพล หวังธีระประเสริฐ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข จำกัด (KDMS) กล่าวถึง เคล็ดลับการห่างไกลจากโรคกระดูกและข้อ ที่มักเกิดในผู้สูงวัย ว่า ในส่วนปัจจัยที่ส่งเสริมทำให้มีกระดูกหรือมวลกระดูกที่ดีได้ เริ่มตั้งแต่อาหาร ต้องทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ มีแคลเซียม และวิตามินดีสูง
ประการต่อมา การออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ (Strength Training) จะทำให้มีมวลกระดูกเพิ่มขึ้น รวมถึงการรับวิตามินดีจากแสงแดดในตอนเช้า ซึ่งการที่มีกล้ามเนื้อที่ดีมาซัพพอตกระดูกและข้อจะทำให้โรคของกระดูกและข้อลดลง บางคนปวดเข่าไปหาแพทย์กระดูก แพทย์ก็จะแนะนำให้มีการยืดกล้ามเนื้อ ออกกำลังกายกล้ามเนื้อต้นขา ซึ่งการที่กล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงทำให้ข้อรับน้ำหนักน้อยลง เสื่อมช้าลง ไม่ต้องผ่าตัด
ในส่วนของโรคทางกระดูกและข้อของผู้สูงอายุที่พบมากในปัจจุบัน ได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ (เข่า มือ เท้า), ปวดหลัง ปวดคอ ร้าวลงขา ชา อ่อนแรง, กระดูกสันหลังเสื่อม คอ เอว (ตีบแคบ เคลื่อนกดทับเส้นประสาท), กระดูกพรุน กระดูกยุบ หลังคด กระดูกสะโพกหัก, ข้อไหล่เสื่อม เอ็นข้อไหล่ฉีก,พังผืดข้อมือ นิ้วล๊อค
“หากเป็นโรคทางกระดูกและข้อ ขอแนะนำมารักษาที่ KDMS ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่รักษาโรคกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อครบวงจร โดยเรามีทีมแพทย์เฉพาะทาง ด้วยนวัตกรรมลงลึกในการรักษา โดยการรวมตัวกันของกลุ่มศัลยกรรมกระดูก และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูมาทำงานร่วมกัน เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่เฉพาะเจาะจงในทุกเรื่องกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ เพื่อให้คนไข้ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การวินิจฉัย การผ่าตัด กายภาพบำบัด และการดูแลอย่างต่อเนื่องหลังการผ่าตัด ทำให้กลับไปใช้ชีวิตได้เช่นเดิม”
นอกจาก KDMS จะมีจุดเด่นด้านทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคกระดูกและข้อเฉพาะทางและเฉพาะจุดแล้ว ยังมีนวัตกรรมในการรักษา เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม โดยการส่องกล้อง มีการใช้โรบอติก ทำให้มีความแม่นยำ และฟื้นตัวเร็ว และกระบวนการรักษาฟื้นฟูหลังการผ่าตัดร่วมกับนักกายภาพบำบัด
ปัจจุบันจากที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ โรคกระดูกและข้อส่วนใหญ่ก็จะเป็นโรคของผู้สูงอายุ ตั้งแต่การเปลี่ยนข้อเข่าที่จะเจอได้บ่อยที่โรงพยาบาล หรือการที่สันหลังเสื่อม ทำให้กระดูกกดทับเส้นประสาทหรือตีบแคบ จะมีอาการปวดหลัง ปวดร้าวลงขา อาการเหล่านี้จะพบมาก ทั้งนี้การเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ณ ปัจจุบันมีค่าใช้จ่าย 2-3 แสนบาทต่อข้าง และต้องมีการฟื้นฟูหลังการผ่าตัด
“การที่หัวเข่าเสื่อมเร็ว อันที่หนึ่งมาจากน้ำหนักตัวที่มาก จะทำให้กระดูกข้อรับน้ำหนักที่มากกว่าปกติ 4 เท่า ซึ่งเรื่องน้ำหนักตัวถือเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นต้องพยายามคุมน้ำหนักให้ดี รวมถึงการทำกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อเข่ามากเกินไปก็ไม่แนะนำ เช่น การวิ่ง หรือกระโดดมาก ๆ แต่หากเป็นการวิ่งจ๊อกกิ้งก็จะเป็นการส่งเสริมกล้ามเนื้อ และมวลกระดูก ดังนั้นสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ต้องลดและออกกำลังกาย
นอกจากนี้ยังมีข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวให้ห่างไกลโรคกระดูกและข้อ และไม่ต้องไปโรงพยาบาลว่า ข้อสำคัญต้องทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เพิ่มแคลเซียม และวิตามินดี หลีกเลี่ยง ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด ออกกำลังกาย และอยู่ในที่ที่มีอากาศดี
“ในภาพใหญ่อยากให้รัฐบาลเน้นเรื่องการป้องกัน (prevention)และดูแลประชาชนให้มีสุขภาพที่ดี ไม่ให้ป่วยหรือเป็นโรค จากที่ผ่านมาเน้นเรื่องโรงพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการป้องกัน คนเป็นไข้หวัดธรรมดาไปโรงพยาบาลเสียค่าใช้จ่ายถึง 2-3 พันบาท” นพ.ธนพล กล่าว