ล่าสุดช่วงครึ่งปีแรกจีดีพีไทยขยายตัว 2.4% จากทั้งปีนี้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการขยายตัวทั้งปีที่ 2.7-3.2% ซึ่งยังต้องลุ้นว่าจะไปถึงหรือไม่
ด้วยเวลานี้มีเหตุปัจจัยนานัปประการทั้งปัจจัยภายใน และนอกประเทศ ที่จะเป็นทั้งวิกฤติ และโอกาสสำหรับประเทศไทยในเวลาเดียวกัน ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อก่อให้เกิดวิกฤติด้านพลังงาน ด้านอาหารคน และวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาสูงขึ้น ซัพพลายเชนขาดแคลน และเกิดการสะดุดกระทบเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก สวนทางกำลังซื้อของผู้บริโภคปรับตัวลดลง เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก เครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ชะลอตัวลงในเดือนที่เหลือของปีนี้
เรื่องระดับโลกถัดมา วันที่ 4-7 ส.ค.จีนประกาศปิดน่านฟ้า-น่านนํ้ารอบเกาะไต้หวันเพื่อซ้อมรบเป็นการแสดงความไม่พอใจสหรัฐฯที่ส่งนางแนนซี่ เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯเดินทางเยือนไต้หวัน (2-3 ส.ค.) ไม่สนคำคัดค้านของจีนที่ระบุเป็นการล้วงลํ้าอธิปไตย เพราะจีนถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และไม่ให้เกียรติกับหลักการจีนเดียว ก่อนเดินทางเยือนครั้งนี้ทางการจีนได้ประกาศระงับนำเข้าสินค้าอาหารแปรรูปจากไต้หวันกว่า 2,000 รายการ รวมถึงระงับการส่งออกทรายธรรมชาติชนิดพิเศษที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) มายังไต้หวันที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกชิปอันดับ 1 ของโลก
สร้างความหวาดผวาให้กับทั่วโลกที่วิกฤติขาดแคลนชิปที่ใช้ในอุตสาหกรรมไฮเทคทั้งหลาย ทั้งรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ไอที มือถือ เครื่องมือแพทย์ อากาศยาน ฯลฯ อาจกลับมาเยือนอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯฉวยจังหวะผ่านร่างกฎหมาย CHIPS and Science Act มูลค่าถึง 2.8 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ และการวิจัยด้านเทคโนโลยี เพื่อแข่งกับชิปจีนที่ครองส่วนแบ่งตลาดโลกอยู่กว่า 20%
กระชับพื้นที่เข้ามาในประเทศ วันที่ 10 ส.ค. 2565 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี เพื่อรักษาช่องว่างอัตราดอกเบี้ยไทย-สหรัฐฯไม่ให้ห่างกันมากเกินไป และเป็นต้นเหตุทำให้เงินทุนไหลออกและเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งจะส่งผลกระทบผู้ประกอบการเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอี รวมถึงภาคครัวเรือนที่เป็นหนี้จะมีต้นทุนและภาระทางการเงินเพิ่มขึ้น และอาจกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
ตัดฉากออกไปนอกบ้านอีกครั้ง ไฟความขัดแย้งจีน-ไต้หวันยังไม่ทันจาง ความตึงเครียดก็กลับมาอีก เมื่อวันที่ 14 ส.ค. คณะผู้แทนสภาคองเกรสของสหรัฐฯอีกคณะได้เดินทางเยือนไต้หวัน สุมไฟการเผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯและไต้หวันลุกโชนขึ้นมาอีก โดยจีนยังส่งทีมลาดตระเวนรอบ ๆ เกาะไต้หวันต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อเป็นการกดดัน ส่งสัญญาณความขัดแย้งครั้งนี้ยังไม่คลี่คลายหรือจบลงง่าย ๆ
แรงกระเพื่อมตามมาจากชนวนเหตุความขัดแย้งกรณีไต้หวัน ทำให้เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลไบเดน ของสหรัฐฯ ได้กลับมาทบทวนการจัดเก็บภาษีสินค้าจากจีนว่าจะยกเลิกภาษีบางส่วนหรือ จะบังคับใช้มาตรการทางภาษีอื่นๆ เพิ่มเติม หลังมาตรการเพิ่มการจัดเก็บภาษีสินค้าจีน (ภายใต้สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน) วงเงิน 3.50 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้หมดอายุลงในวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา
จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน สู่สงครามรัสเซีย-ยูเครน และล่าสุด การเผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และไต้หวันที่ยังคุกรุ่น ด้านหนึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการค้าไทย-รัสเซีย ไทย-ยูเครน ไทย-ไต้หวัน ที่จะลดลงในปีนี้ เกิดความเสี่ยงชิปขาดแคลน อาจส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องทั้งรถยนต์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอื่น ๆ ของไทยอาจชะลอตัวหรือลดลง
แต่อีกด้านหนึ่งไทยอาจได้รับอานิสงส์ในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯทดแทนสินค้าจีน และส่งออกไปจีนทดแทนสินค้าไต้หวันได้เพิ่มขึ้น ต่างชาติมาเที่ยวไทยแทนไปจีนหรือไต้หวันมากขึ้น มีปัจจัยสนับสนุนจากเงินบาทที่อ่อนค่าทำให้สินค้าไทยแข่งขันด้านราคาได้ดีขึ้น และการมาท่องเที่ยวในไทยทำให้มีอำนาจในการจับจ่ายมากขึ้น รวมถึงไทยมีโอกาสดึงไต้หวันและทุนต่างชาติมาลงทุนสร้างเงิน สร้างงานในไทยแทนไปจีนได้เพิ่มขึ้น
อานิสงส์ต่าง ๆ เหล่านี้ ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้จากปาฏิหาริย์ แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเร่งลงมือในแผนปฏิบัติการเพื่อให้บังเกิดผลที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงในเร็ววัน