การฟื้นความสัมพันธ์ ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ในรอบ 32 ปี ส่งผลความร่วมมือในทุกมิติของทั้ง 2 ประเทศฟื้นคืนมาตามลำดับ ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนคือมีการแลกเปลี่ยนคณะผู้แทนเพื่อขยายการค้าระหว่างกันในรอบปีนี้แล้วหลายคณะ โดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ได้ตั้งเป้าหมายส่งออกไทยไปซาอุฯปีนี้จะทำได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท คำนวณที่ 35 บาทต่อดอลลาร์) และ 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566
ล่าสุดระหว่างวันที่ 27-31 สิงหาคม นี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะนำคณะผู้แทนการค้าไทย ประกอบด้วยภาครัฐและเอกชนเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ณ กรุงริยาด เพื่อขยายความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้น
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คณะภาคเอกชนที่จะร่วมเดินทางเยือนซาอุฯในครั้งนี้มี 89 บริษัท รวมผู้บริหารกว่า 130 คน ใน 5 กลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพขยายตลาดซาอุฯ ได้แก่ สินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องดื่ม,วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน, ชิ้นส่วน/อะไหล่ยานยนต์ และอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าและธุรกิจบริการอื่น อาทิ สุขภาพความงาม เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก อาหารสัตว์เลี้ยง ธุรกิจรับจัดงานอีเวนต์ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เป็นต้น
แหล่งข่าวจากผู้ร่วมคณะเดินทางในครั้งนี้ เผยไฮไลท์สำคัญในการเดินทางครั้งนี้ ผู้แทนภาครัฐและเอกชนไทยมีกำหนดการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าไทยกับ Manuel Supermarket และ LuLu Hypermarket, ซึ่งเป็นผู้วางจำหน่ายสินค้าไทยรายใหญ่ในซาอุฯ เพื่อขยายเครือข่าย, การพบปะและหารือกับประธานองค์การอาหารและยา (อย.) ของซาอุฯในความร่วมมือเพิ่มจำนวนโรงงานอาหารสัตว์ อาหารทะเล และเนื้อสัตว์จากไทยให้ขึ้นทะเบียนกับ อย.ของซาอุฯ
นอกจากนี้ที่สำคัญ จะมีการพบปะและหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสื่อสารมวลชนซาอุดีอาระเบีย ในประเด็นขอความร่วมมือซาอุฯ เป็นแหล่งความมั่นคงทางพลังงานและปุ๋ยให้ไทย ขณะที่ไทยจะเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารให้กับซาอุฯ รวมถึงการใช้โอกาสที่ซาอุฯจะพัฒนาโครงการนีออม(NEOM) ที่จะมีการสร้างเมืองใหม่แห่งโลกอนาคต (THE LINE) มูลค่ากว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ประมาณ 19 ล้านล้านบาท) ในการส่งออกวัสดุก่อสร้างจากไทย, การขอความร่วมมือซาอุฯในการสนับสนุนให้กลุ่ม GCC (กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับที่มีซาอุฯ เป็นสมาชิก) จัดทำ FTA กับไทย
การหารือกับสภาหอการค้าซาอุฯในการใช้ไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบให้กับเอกชนของซาอุฯ เช่น สินค้าเกษตร วัสดุก่อสร้าง และแนวทางความร่วมมือในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน การจัดบิซิเนส ฟอรั่ม และการลงนาม MOU ระหว่างผู้ประกอบการไทย-ซาอุฯ 5 คู่ มูลค่าการซื้อขายสินค้าในเบื้องต้นประมาณ 350 ล้านบาท
ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การเยือนซาอุฯครั้งนี้ นอกจากจะมีการเซ็น MOU ขยายความร่วมมือด้านการค้าแล้ว ทั้งสองฝ่ายยังมีแผนหารือกันในการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย และสภาธุรกิจซาอุดีระเบีย-ไทย เพื่อสร้างความร่วมมือในการขยายการค้า การลงทุนระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองให้มีความใกล้ชิดและแน่นแฟ้นกันมากขึ้น ซึ่งหลังฟื้นความสัมพันธ์รอบ 32 ปี ทางซาอุฯ ก็มีความต้องการสินค้าไทยเพิ่ม และจากซาอุฯมีเงินมากก็จะเป็นโอกาสความร่วมมือในการร่วมลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้น
“ซาอุฯยุคใหม่ ภายใต้การนำของมกุฎราชกุมารที่เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง มีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างประเทศและเศรษฐกิจของซาอุฯ ให้เข้มแข็ง จะเป็นโอกาสของทั้งสองประเทศที่จะร่วมมือกัน โดยซาอุฯ อยากให้ไทยเป็นความมั่นคงทางด้านอาหาร การที่เขาจะสร้างเมืองใหม่ภายใต้โครงการ NEOM มองว่าจะเป็นโอกาสของกลุ่มคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้างของไทย
รวมถึงกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต ซึ่งทางซาอุฯอยากจะปลูกต้นไม้ในทะเลทราย เต็มโครงการวางแผนไว้ถึง 1 หมื่นล้านต้น จะเป็นโอกาสไทยที่จะเพาะกล้าต้นไม้ส่งไปขาย ซึ่งต้องไปคุยกันก่อนว่าเขาต้องการอะไร สเปกอย่างไร รวมถึงความร่วมมือกันในเรื่องพลังงานทดแทน เหล่านี้อยู่ในประเด็นที่จะไปหารือกับทางซาอุฯ ในครั้งนี้”
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ในการเดินทางครั้งนี้ได้รับมอบหมายจากนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยที่ติดภารกิจให้เป็นตัวแทนร่วมคณะ สำหรับการค้าไทย-ซาอุฯได้ฟื้นตัวขึ้นมาก หลังฟื้นความสัมพันธ์รอบ 32 ปี คาดปีนี้ไทยจะส่งออกไปซาอุฯได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯตามที่ทาง สรท.ได้ตั้งเป้าหมายไว้ เพราะซาอุฯรู้จักและชื่นชอบสินค้าไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อกว่า 30 ปีก่อนซาอุฯถือเป็นคู่ค้า และเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทยในตะวันออกกลาง หลังลดระดับความสัมพันธ์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ได้ขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันหนึ่งของไทยในตะวันออกกลางแทน
“นอกจากการค้า การลงทุนไทย-ซาอุฯ ที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นนับจากนี้แล้ว การท่องเที่ยวก็จะขยายตัว ชาวซาอุฯจะมาเที่ยวไทยมากขึ้น รวมถึงเขาอยากให้เราไปลงทุนหรือร่วมลงทุนกับเขาในธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมในซาอุฯ เพราะไทยมีความเชี่ยวชาญด้านนี้ เขาลงทุนก็จ้างคนไทยไปเป็นผู้จัดการ และหมวดของการรักษาพยาบาลเขา ก็มีความต้องการพยาบาลจากไทย ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการดูแล และให้บริการที่ดี”
ขณะที่ นายอัครวุฒิ ตั้งศิริกุศลวงศ์ ประธานบริหารเวก้า กรุ๊ปส์ และประธานศูนย์การค้าไทยมาร์ท บาห์เรน เผยว่า ในครั้งนี้จะร่วมคณะเดินทางเยือนซาอุฯ ด้วย มีเป้าหมายไปโรดโชว์ เพื่อขายแนวคิดในการจัดตั้ง “Thai Mini Mart” หรือไทย มาร์ทย่อส่วน ขนาดพื้นที่ไม่เกิน 100 ตารางเมตรในซาอุฯ เพื่อสนับสนุนการขายสินค้าแบรนด์ไทยจากผู้เช่าพื้นที่ไทยมาร์ท บาห์เรน เชื่อมต่อไปยังซาอุฯ มีเป้าหมายในปีหน้าจะนำร่องที่กรุงริยาด 1 สาขา และเจดดาห์ 1 สาขา เน้นการขายส่งสินค้าแบบยกลัง หรือยกกล่องให้กับยี่ปั๊ว ซาปั๊วในซาอุฯเพื่อนำไปขายทำกำไรต่อ หากไปได้ดีจะขยายต่อไปในพื้นที่ที่มีศักยภาพของซาอุฯ ขณะนี้มีภาคเอกชนซาอุฯ หลายรายสนใจร่วมทุนแล้ว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3813 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม 2565