หลังจากสิ้นสุดสัมปทานและส่งมอบแหล่งผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ ให้กับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ไปเมื่อช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมารการผลิตปิโตรเลียมของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่เคยมีอยู่ลดลงเหลือเพียง 30 % หรือมีแหล่งสัมปทานที่เหลืออยู่ในแปลงบี 12/27 หรือแหล่งไพลินเหนือ/ใต้ และแปลง บี8/32 หรือแหล่งเบญจมาศ รวมกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติราว 480 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่บริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชั่น จากสหรัฐอเมริกา ยังยืนยันที่จะลงทุนต่อในประเทศไทย หลังจากประกาศถอนการลงทุนในเมียนมาไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
วันนี้บริษัท เชฟรอนฯ ก้าวสู่บทใหม่ด้วยการกระชับองค์กรและธุรกิจให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ด้วยศักยภาพพนักงานที่มีอยู่กว่า 600 คน และพนักงานจากบริษัทผู้รับเหมาอีกกว่า 300 คน รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยการจัดตั้งศูนย์ควบคุมการปฏิบัติงานของแท่นผลิต ที่เรียกว่า “Integrated Operations Center” หรือ IOC นับเป็นครั้งแรกในไทย ที่มีการนำ Control room นอกชายฝั่งของแหล่งผลิตกลางอ่าวไทยทั้ง 3 แหล่ง ได้แก่ เบญจมาศ ไพลินเหนือ และไพลินใต้ มารวมไว้ที่สำนักงานกรุงเทพฯ สามารถควบคุมและสั่งการระบบการผลิตที่ห่างออกไป 300 กิโลเมตร นอกชายฝั่งได้แบบ real-time ตลอด 24 ชั่วโมง
นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ให้สัมภาษณ์ว่า ในปี 2565 นี้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของเชฟรอนฯในหลายด้าน ที่จะต้องปรับวิสัยทัศน์การดำเนินงานใหม่ ภายใต้กลยุทธ์ Agile มุ่งให้ความสำคัญกับการดำเนินงาน 4 ด้านหลัก ได้แก่ Protect people and the environment มุ่งความเป็นเลิศในการปฏิบัติงาน เสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทั้งสำหรับพนักงาน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
Better Leaders เติมเต็มศักยภาพมุ่งพัฒนาบุคลากรในทุกระดับ เน้นการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ Future growth opportunities สร้างความเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาแนวทางการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของแหล่งปิโตรเลียมที่บริษัทฯได้รับสัมปทาน ตลอดจนมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการลงทุน และภารกิจ Lower Carbon มุ่งลดความเข้มข้นในการปล่อยก๊าซคาร์บอน (carbon intensity) เพื่อจัดหาพลังงานที่สะอาดขึ้นและสนับสนุนแผนพลังงานชาติสู่สังคมที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ การสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด บริษัทฯ มองเห็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ ควบคู่ไปกับการมองหาโอกาสในการลงทุนใหม่ๆโดยได้ยื่นขอต่อระยะเวลาการผลิตของแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งไพลินจากที่มีกำลังผลิตก๊าซฯอยู่ราว 430 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ที่จะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2571 ไปอีก 10 ปี เพื่อให้เกิดการลงทุนและพัฒนาพื้นที่การผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ การต่ออายุสัมปทานแหล่งไพลิน จะช่วยให้เกิดความเป็นไปได้ในการพัฒนาแหล่งอุบลที่อยู่ในพื้นที่นี้ต่อไปได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาต้นทุน และวิธีการขุดเจาะอยู่
อีกทั้งมองว่า การพัฒนาปิโตรเลียมในพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา (TCOCA) หรือ พื้นที่ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล (Special Economic Zone) จะมีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียม และเป็นทางออกในการแก้วิกฤตด้านพลังงานของประเทศ ช่วยลด การพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศที่ส่งผลต่อราคาพลังงาน ประชาชนต้องแบกรับภาระอยู่ในเวลานี้
นอกจากนี้ TCOCA ยังช่วยสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนและการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องการการตัดสินใจจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะการพัฒนาโครงการด้าน E&P ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ และ TCOCA ยังตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด (Solution for energy transition) ได้ โดยเชฟรอนฯ มีความพร้อมในการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อปลดล็อกแหล่งพลังงานสะอาดในอ่าวไทยที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้เกิดความคุ้มค่าและสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศไทย
ขณะที่การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานที่สะอาด (Lower Carbon) ให้สอดคล้องกับแผนพลังงานชาติ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายด้วยการลดปริมาณความเข้มข้นของการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการปฏิบัติงานในประเทศไทยลง 20% ภายในปี พ.ศ. 2571 และลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2593 โดยมีแนวทางในการจัดการลดก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการปฏิบัติงานผ่านกลยุทธ์ Thailand Clean Operations Strategy ใน 3 ด้าน ได้แก่
Energy Efficiency ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์เครื่องจักร อาทิ เปิดใช้เครื่องจักรตามความจำเป็นพัฒนาคุณภาพเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยบริษัทได้รับอนุมัติงบประมาณสนับสนุนจำนวน 588,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 20 ล้านบาท จากเชฟรอน คอร์เปอร์เรชั่น เพื่อใช้ในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น
Flare and Vent ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง ซึ่งเป็นกระบวนจัดการปล่อยก๊าซส่วนเหลือเพื่อลดความดันจากอุปกรณ์ เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ตรวจจับก๊าซส่วนเกินจากระบบ เพื่อลดความดันภายในท่อก๊าซ ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเผาไหม้ก๊าซส่วนเกิน และการใช้เทคโนโลยีตรวจเช็คประสิทธิภาพของอุปกรณ์
Feasibility Study ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีมาใช้จัดหาพลังงานที่สะอาดขึ้น อาทิ เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนที่แท่นหลุมผลิต โดยวางแผนใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ควบคู่ไปกับการใช้พลังงานลมสลับกันในระหว่างวันสำหรับผลิตไฟฟ้า เพื่อใช้ในการดำเนินงาน คาดว่าจะดำเนินงานนำร่องที่แท่นหลุมผลิตย่อย (Remote platform) ได้ภายในปี 2566 รวมถึงการยังทำงานร่วมกับปตท.สผ.ในฐานะผู้ร่วมทุน ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage) มาใช้เป็นครั้งแรกในอ่าวไทยที่แหล่งอาทิตย์อีกด้วย