"เมดโค เอนเนอร์จีฯ" วาง 50 ล้านดอลลาร์ ค่ารื้อแท่นปิโตรเลียม

18 ก.ค. 2565 | 06:26 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2565 | 13:45 น.

เมดโค เอนเนอร์จี ส่งมอบ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นหลักประกันการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม หลังสิ้นสุดสัมปทานในปี 2568 พร้อมลุ้นขอต่ออีก 10 ปี

 

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 กรมฯได้รับมอบหลักประกันการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม จากบริษัท เมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด ผู้ดำเนินงานของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข B8/38 อยู่ตรงข้ามจังหวัดชุมพร ซึ่งได้รับสัมปทานเมื่อ 24 ตุลาคม 2539 โดยมีระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมเป็นเวลา 9 ปี และเริ่มเข้าสู่ช่วงระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม 20 ปี ตั้งแต่ 24 ตุลาคม 2548 จนถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2568

 

\"เมดโค เอนเนอร์จีฯ\" วาง 50 ล้านดอลลาร์ ค่ารื้อแท่นปิโตรเลียม

 

ปัจจุบันมีผู้รับสัมปทาน 2 ราย ประกอบด้วย เมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด และเมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์ (อีแอนด์พี) ลิมิเต็ด ปัจจุบันแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข B8/38 สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2539/50 กำลัง จะสิ้นสุดระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม 20 ปีแรก ในวันที่ 23 ตุลาคม 2568 ซึ่งปัจจุบันผู้รับสัมปทานได้ยื่นคำขอต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมอีก 10 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยแหล่งบัวหลวง สามารถผลิตนํ้ามันดิบได้เฉลี่ยวันละ 5,000 บาร์เรล (ข้อมูลเฉลี่ยเดือนมิถุนายน 2565)

 

\"เมดโค เอนเนอร์จีฯ\" วาง 50 ล้านดอลลาร์ ค่ารื้อแท่นปิโตรเลียม

 

ทั้งนี้ ตามข้อกําหนดของสัมปทานปิโตรเลียมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายและหน้าที่รับผิดชอบการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม ซึ่งผู้รับสัมปทานต้องยื่นแผนงานการรื้อถอนและประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งเพื่อขอรับความเห็นชอบจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เมื่อระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียมเหลือ 5 ปีสุดท้ายตามที่กำหนดในสัมปทาน และภายหลังจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้อนุมัติแผนงานดังกล่าวแล้ว ผู้รับสัมปทานต้องดำเนินการวางหลักประกันการรื้อถอน เพื่อให้รัฐมีความมั่นใจว่าผู้รับสัมปทานจะไม่ละทิ้งหน้าที่ในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งภายหลังสิ้นสุดการใช้งาน ตลอดจนไม่เป็นภาระแก่รัฐสำหรับค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน

 

สำหรับแผนงานการรื้อถอน ที่บริษัท เมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด ได้ผ่านความเห็นชอบจากกรมฯแล้ว โดยมีรายการสิ่งติดตั้งที่ยังอยู่ในพื้นที่ผลิตบัวหลวง และอยู่ในแผนการรื้อถอน ประกอบด้วย แท่นหลุมผลิต 3 แท่น ได้แก่ แท่นหลุมผลิต BLWPA แท่นหลุมผลิต BLWPB และแท่นหลุมผลิต BLWPC โดยรวมถึงหลุมผลิต และหลุมอัดนํ้ากลับ และท่อยืน (Riser) รวมถึงเรือกักเก็บปิโตรเลียม (เรือ FSO) ชื่อ “Suksan Salamander” และระบบยึดโยง (Mooring System) และท่อขนส่งใต้ทะเลแบบยืดหยุ่นได้ (Composite Flowlines) ท่อขนส่งใต้ทะเลที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว และสายนําสัญญาณ (Umbilicals) ส่วนที่เหลือ

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมาในแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข B8/38 สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2539/50 มีความสำคัญต่อการจัดเก็บรายได้ของประเทศเป็นอย่างยิ่ง รัฐสามารถจัดเก็บค่าภาคหลวงและผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ (SRB) โดยผู้รับสัมปทานได้ชำระค่าภาคหลวงปิโตรเลียมตั้งแต่เริ่มผลิตจนถึงปัจจุบันเป็นมูลค่าประมาณ 8,093 ล้านบาท และสามารถจัดเก็บผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษตั้งแต่ปี 2552 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นมูลค่ารวม 11,628.52 ล้านบาท ซึ่งการวางหลักประกันค่ารื้อถอนครั้งนี้ น่าจะอยู่ราว 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1,500 ล้านบาท