4 ก.ย.2565 - นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยแพร่บทความ : “เฝ้าระวังมหาวิกฤตเศรษฐกิจ” ครั้งที่ 88 หลังจากสัญญาณทางเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศยูโรโซน ทั้งปัญหาวิกฤติพลังงาน ,เงินเฟ้อ ,ความผันผวนของค่าเงิน และ นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ณ ขณะนี้ ว่า ....
ยุโรปมีความตึงเครียด ด้านตลาดการเงิน มาตั้งแต่การออกแบบเริ่มต้นสกุลยูโร
สำหรับยุโรปเหนือ เช่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ค่าเงินยูโรอ่อนกว่าพื้นฐาน ทำให้ส่งออกบูมมาตลอด ร่ำรวยขึ้นทุกวัน
แต่สำหรับยุโรปใต้ ค่าเงินยูโรแข็งกว่าพื้นฐาน ทำให้แข่งขันยาก เพราะไม่ชำนาญด้านไฮเทค หรืออุตสาหกรรม high value ต้องซื้อของจากยุโรปเหนือ ยากจนลงทุกวัน
อัตราว่างงาน สำหรับกลุ่มคนหนุ่มสาว ในยุโรปใต้ จึงสูงน่าอันตราย โดยในปอร์ตุเกส 23% อิตาลี 30% กรีซ 34% สเปน 36%
ที่ผ่านมา ยุโรปใต้อยู่ได้ ก็เพราะ ในด้านนโยบายการคลัง ยุโรปเหนือให้เงินช่วยเหลือเป็นครั้งคราวผ่านอียู
และในด้านนโยบายการเงิน ธนาคารกลางยุโรป ECB เข้าไปช่วยซื้อพันธบัตรรัฐบาลยุโรปใต้ เพื่อมิให้ดอกเบี้ยวิ่งขึ้นสูง จนกู้ไม่ไหว
ล่าสุด การเมืองอิตาลี ในการเลือกตั้ง 25 ก.ย. มีแนวโน้มจะวุ่น
กลุ่ม Meloni Alliance ซึ่งมีแนวโน้มจะชนะ ได้ประกาศท่าทีว่า จะไม่รับ 58 มาตรการที่อียูกำหนด ให้อิตาลีปฏิรูปลดค่าใช้จ่าย
กลุ่มนี้ นโยบายกลับทาง จะลดภาษี โดยไม่แคร์ว่างบประมาณจะขาดดุลมากขึ้น
จึงทำให้ยุโรปเหนือ คัดค้าน ECB ที่จะทุ่มเงินรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลยุโรปใต้มากขึ้น รูป 1 เพราะสุดท้าย ยุโรปเหนือต้องอุ้ม ECB ที่จะขาดทุน
ความขัดแย้งปรากฏชัดเจนขึ้น ในการสัมมนาของเฟดที่ Jackson Hole ซึ่ง Lagarde ประธาน ECB กลับไม่ได้ไปร่วม
ผู้กล่าวสุนทรพจน์แทนธนาคารชาติเยอรมัน คือ Isabel Schnabel
ซึ่งย้ำอย่างชัดเจน ไม่เห็นด้วยที่ ECB จะซื้อพันธบัตรเหล่านี้ อันเป็นการอัดเงินเข้าระบบด้วยมือขวา ในขณะที่ขึ้นดอกเบี้ย และดูดเงินออกด้วยมือซ้าย
อธิบายง่ายๆ ว่า จะเป็นการทำลายแผนการลดเงินเฟ้อ!
ดังนั้น ท่าทีของเยอรมนี กำลังจะสร้างปัญหาต่อพันธบัตรรัฐบาลอิตาลี
ถามว่า ทำไม ECB จะไม่สามารถตัดสินใจ ซื้อพันธบัตรรัฐบาลอิตาลี ได้ง่ายเหมือนเฟด ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ?
ECB มีทุน 10.8 หมื่นล้านยูโร ถือหุ้นโดยธนาคารชาติในยุโรป เยอรมนี 21% ฝรั่งเศส 16% อิตาลี 13%
กรณีเฟดขาดทุน รัฐบาลสหรัฐสามารถจัดงบประมาณ เอาเงินมาเพิ่มทุนได้ เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ เพราะรัฐบาลถือหุ้นในธนาคารชาติตรง
และแม้จะปล่อยให้ธนาคารชาติขาดทุนไปพักหนึ่ง เช่นกรณีไทย ก็สามารถทำได้
แต่กรณี ECB ขาดทุน จนถึงขั้นต้องเพิ่มทุน ธนาคารชาติต่างๆ จะไม่สามารถควักกระเป๋า เพิ่มทุนอย่างรวดเร็ว
จะต้องไปขอเงินจากรัฐบาลของตน เพื่อเอามาเพิ่มทุนให้ ECB
ซึ่งในบางประเทศ จะเป็นประเด็นการเมืองระดับใหญ่โต!
6 ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก จากวิกฤติในยุโรป
ขณะนี้ ได้เกิดความเสี่ยงสะสมในยุโรป เริ่มต้นขึ้นแล้ว
ที่ยังไม่ชัดเจนมีอยู่ประเด็นเดียว คือ ฟางเส้นสุดท้าย จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่