“สุพัฒนพงษ์” หนุนพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา แก้วิกฤตพลังงาน วิน-วิน ทั้งคู่

13 ก.ย. 2565 | 08:20 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2565 | 15:30 น.

รองนายกฯ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” หนุนการพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา รับกระทรวงการต่างประเทศ เป็นแม่งาน เชื่อ ถ้าคุยเริ่มกันตั้งแต่วันนี้ และเสร็จเร็ว ก็เชื่อว่าอีก 10 ปีก็คงได้ใช้ วิน-วิน ทั้งสองประเทศ รับการหารือเบื้องต้นเป็นไปได้ด้วยดี

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา หรือ (Overlapping Claims Area : OCA) เพื่อนำก๊าซธรรมชาติมาใช้รองรับวิกฤตด้านพลังงานของประเทศ ว่า เรื่องนี้อยู่ในแผนการทำงานของรัฐบาลแล้ว และคงกำหนดเอาไว้เป็นแผนในระยะยาว 

 

ทั้งนี้ยืนยันว่า ตามแผนของรัฐบาลได้กำหนดแนวทางเอาไว้ 2 เรื่อง คือ

  • การส่งเสริมพลังงานสะอาดมากขึ้น ด้วยการพึ่งพาตัวเอง
  • การแสวงหาแหล่งก๊าซธรรมชาติ หรือแหล่งพลังงานที่มีในประเทศ เช่น การเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ พร้อมกับพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศกัมพูชา เป็นต้น

“ในการแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะกัมพูชา ซึ่งถ้าคุยเริ่มกันตั้งแต่วันนี้ และเสร็จเร็ว เชื่อว่าอีก 10 ปีก็คงได้ใช้ เพราะตอนนี้โครงสร้างพื้นฐานก็มีหมดแล้ว และน่าจะเป็นประโยชน์ทั้งไทย และกัมพูชาด้วย” นายสุพัฒนพงษ์ ระบุ

 

อย่างไรก็ตามในการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชานั้น รัฐบาลได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว โดย รองนายกฯ ยอมรับว่า กระทรวงการต่างประเทศ จะรับเป็นผู้นำในการพิจารณา และเจรจาเรื่องดังกล่าว 

“ขั้นตอนต่อจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้นำ แต่ในวิธีการดำเนินการ ในช่วงที่ผ่านมาก็ได้แจ้งไปว่า ยังต้องดูรายละเอียดอื่น ๆ เช่น ยังมีเรื่องของแนวเขตที่กระทรวงการต่างประเทศยังเป็นกังวลอยู่ และต้องหาทางออก และอธิบายให้ประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นด้วย ขณะที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจถ้าร่วมมือก่อนได้ก็จะดี” รองนายกฯ ยอมรับ

 

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ช่วงนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี เบื้องต้นได้รับทราบการรายงานของคระกรรมการชุดนี้ว่า การพูดคุยในเรื่องดังกล่าวนั้น มีความคืบหน้าตามลำดับ และการหารือก็เป็นไปได้ด้วยดี