มีคำพูดที่กล่าวว่า Green Economy ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางเดียวสำหรับโลกและผู้ประกอบการ ทั้งนี้เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy คือเศรษฐกิจที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นธรรมทางสังคม สามารถลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและความขาดแคลนเชิงนิเวศได้ ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ อธิบายการพัฒนาสีเขียวว่า ประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ การเพิ่มจีดีพี การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
มองภาพระดับเล็กลงมา ธุรกิจขนาดใหญ่จนถึง SME ล้วนแสวงหากลยุทธ์ในการเติบโตไปพร้อมกับกระแส Green Economy หากคุณเคยได้ยินกลยุทธ์น่านน้ำหลากสีหรือ Ocean Strategy กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean) และน่านน้ำสีแดง (Red Ocean) น่าจะเป็นหัวข้อที่ได้ยินบ่อยที่สุดจากปริมาณหนังสือ บทความ และคอร์สอบรมที่มีอยู่มากมาย
ส่วน Green Ocean Strategy หรือกลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว กลับได้รับความสนใจน้อยกว่า และมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นการทำซีเอสอาร์รูปแบบหนึ่งเท่านั้น
เมื่อ Blue Ocean Strategy ไม่เพียงพออีกต่อไป
Blue Ocean Strategy หรือกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม ซึ่งได้รับความนิยมกว่า เป็นการสร้างตลาดใหม่ที่เป็นช่องว่างที่คู่แข่งยังไม่เข้ามา ถึงกระนั้น Blue Ocean Strategy ก็ยังไม่ตอบโจทย์ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการสร้างอุปสงค์ใหม่เพื่อครอบครองน่านน้ำสีครามไม่ได้การันตีว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ขณะที่อุปสงค์สีเขียวกลายเป็น Third Factor ที่ผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและการบริโภคที่ยั่งยืนกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จาก Green Action Plan for SMEs - Turning environmental challenges into business opportunities ของสหภาพยุโรป ระบุถึงข้อดีของธุรกิจสีเขียวต่อ SME ว่า จะเป็นตัวช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของธุรกิจผู้ประกอบการสีเขียวในอนาคต ที่ทั้งอียูและโลกกำลังให้ความสนใจ เป็นโอกาสของ SME ในห่วงโซ่สีเขียว ซึ่งจะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างงานใหม่ๆ สามารถเข้าถึงตลาดสีเขียวที่กำลังเติบโต
ที่สำคัญคือ การขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของโจ ไบเดน ซึ่งมีนโยบายชนิดกลับหลังหันจากโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างชัดเจน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ที่ชู Green Economy ในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และกลับเข้าร่วมความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือความตกลงปารีสอีกครั้ง
นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังสหรัฐฯ รวมถึงไทยคือ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (carbon border adjustment mechanism) หรือ การเก็บภาษีคาร์บอน เป็นการใช้มาตรการทางภาษีกับสินค้านำเข้า ที่มีการใช้พลังงานเข้มข้นและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดกระบวนการผลิตในระดับสูง มีการประเมินว่าอัตราภาษีของสหรัฐฯ อาจสูงถึง 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันคาร์บอน และอาจมีนโยบายบังคับให้สินค้านำเข้าต้องติดฉลากคาร์บอน เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดการใช้งานอย่างไร ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนและทำให้สินค้านำเข้าจากไทยมีราคาสูงขึ้น รวมถึงอาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน
Green Ocean Strategy จึงถูกพัฒนาขึ้นสำหรับธุรกิจที่ต้องการตอบสนองอุปสงค์สีเขียว การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน และความยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว โดยนำความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การแข่งขัน
โดย Green Ocean Strategy สามารถใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ของธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสั่งซื้อ โลจิสติกส์ การตลาด หรือการออกแบบ รวมไปถึงการจัดการกับของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตด้วย
น่านน้ำสีครามสู่น่านน้ำสีเขียว
คำถามคือ SME จะเริ่มใช้ Green Ocean Strategy อย่างไร จากเว็บไซต์ greenoceansociety.com แนะนำว่าต้องเริ่มจาก 7 Green Habits หรือ 7 อุปนิสัยสีเขียว ซึ่งประกอบด้วย 7R คือ อุปนิสัยแห่งการคิดใหม่ (Rethink) อุปนิสัยแห่งการลด (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) การปฏิเสธ (Refuse) การปรับสภาพ (Recondition) และการคืนกลับ (Return)
งานศึกษาเรื่อง Green Ocean Strategy: Democratizing Business Knowledge for Sustainable Growth เมื่อต้นปี 2563 ระบุไว้ว่า Green Ocean Strategy เป็นสิ่งที่ไปไกลกว่า Red Ocean Strategy และ Blue Ocean Strategy เนื่องจากทั้งสองกลยุทธ์มีต้นทุนสูงในการใช้ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่จะสร้างผลกำไรระยะยาวโดยไม่คำนึงถึงต้นทุน ขณะที่ Green Ocean Strategy มีความท้าทายมากกว่า ทั้งยังให้ผลตอบแทนและจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมนวัตกรรมที่สร้างผลกำไรและยั่งยืนด้วยการเปลี่ยนความต้องการไปสู่พื้นที่ตลาดใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยสังคม ช่วยให้เปลี่ยนความสามารถเชิงรุกเป็นความสามารถในการแข่งขันระยะยาวและยั่งยืน ซึ่งกลยุทธ์มหาสมุทรสีเขียวจะเกิดขึ้นได้จากนวัตกรรมทางสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้และเทคโนโลยี
งานดังกล่าวแนะนำการ Transform ธุรกิจ จาก Blue Ocean Strategy สู่ Green Ocean Strategy ไว้ว่า ให้ปรับเปลี่ยนจากการเข้าสู่ตลาดที่ยังไม่มีการแข่งขันไปสู่การจับตลาดเพื่อสังคม จากที่เคยสร้างการแข่งขันที่ไม่เกี่ยวข้องกับตลาดเดิม เปลี่ยนเป็นมุ่งเป้าไปที่การแบ่งปันคุณค่าจากการแข่งขัน จากที่เคยสร้างและจับอุปสงค์ใหม่ ๆ ก็หันมาเน้นการหาผลประโยชน์จากอุปสงค์ที่มีอยู่ จากที่เคยเน้นไม่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนต้นทุนและคุณค่า หันมาสู่การยกระดับการแลกเปลี่ยนแทน และเปลี่ยนจากการจัดวางระบบกิจกรรมขององค์กร เพื่อสร้างความแตกต่างและลดต้นทุนไปสู่การใช้ทุนทางปัญญาของมนุษย์เพื่อสร้างสิ่งเดียวกัน
Green for All
ประเด็นสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ Green Ocean Strategy ไม่ใช่กลยุทธ์ที่ใส่ใจเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว หากยังรวมถึงการใส่ใจคุณภาพชีวิตของพนักงาน ผู้บริโภค และผู้ผลิตด้วย ส่งผลให้ Green Ocean Strategy มีมิติที่อาจจะกว้างไกลกว่าแค่เรื่องธุรกิจ
ตัวอย่างที่ชัดเจนอย่าง Green Floral Crafts ธุรกิจของตกแต่งบ้านที่มีวิสัยทัศน์สีเขียวชัดเจน โดยแปลงออกมาเป็นกลยุทธ์ที่สร้างความแตกต่าง เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และได้รับการยอมรับ โดยผลิตภัณฑ์ของ Green Floral Crafts ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แถมยังเป็นงานฝีมือที่ผลิตโดยช่างและครอบครัวตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นที่ซื้อ นอกจากตอบโจทย์ความต้องการแล้ว ยังปกป้องสิ่งแวดล้อมและผู้คนอีกด้วย
กลับมาที่บ้านเรา โอ้กะจู๋ ผู้ประกอบการสวนผักออร์แกนิกที่นำความฝันของผู้ประกอบการทั้ง 3 คนมาแปลงเป็นธุรกิจสีเขียว เป็นการทำ Green Ocean Strategy ที่ประสบความสำเร็จ จากสวนผักธรรมดา แตกกิ่งก้านจนมีมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท โดยมีวิสัยทัศน์หลักว่าจะเป็นการปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์ด้วยการออกแบบและจัดการฟาร์มโดยไม่พึ่งพาสารเคมี คำนึงถึงผืนดิน ผลิตผล ระบบนิเวศ ครอบครัว และชุมชน
ผลผลิตที่ได้จากฟาร์มถูกเพิ่มมูลค่าขึ้นไป เป็นร้านอาหารเพื่อสุขภาพเรียกว่า Farm to Table แม้ราคาอาหารจะค่อนข้างสูง แต่กลับเป็นที่นิยมของผู้บริโภค เป็นการผนวกเอากระแสสีเขียวกับกระแสสุขภาพเข้าด้วยกันอย่างลงตัว เมื่อดูจากแนวทางการ Transform ที่ Green Ocean Strategy: Democratizing Business Knowledge for Sustainable Growth กล่าวไว้ พบว่า โอ้กะจู๋ ปรับเปลี่ยนธุรกิจจากตลาดที่มีการแข่งขันยังไม่สูงมากไปสู่การจับตลาดเพื่อสังคมและจากที่เคยสร้างการแข่งขันที่ไม่เกี่ยวข้องกับตลาดเดิม เปลี่ยนไปมุ่งเป้าที่การแบ่งปันคุณค่าจากการแข่งขันสู่ผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ
Green Ocean Strategy จึงไม่ใช่กลยุทธ์ที่มุ่งเพียงการแข่งขันเฉพาะหน้า แต่ยังสนใจผลกำไรในระยะยาว ความยั่งยืน และการอยู่ร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
ที่มา : กรุงไทย SME FOCUS
จากบทความเรื่อง "Green Ocean Strategy" ยกระดับกลยุทธ์เพื่อ "ทุกคน" และ "โลก"