'วราวุธ' ปลุกเศรษฐกิจสีเขียว พลิกโฉมประเทศ ดัน พรบ.แก้โลกร้อน

19 ก.ย. 2565 | 09:58 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2565 | 17:22 น.

'วราวุธ' เร่งเครื่อง ดัน พรบ.เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เข้า ครม. ต้นปี 2565 หวังเดินหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ ปลุกเศรษฐกิจสีเขียว พลิกโฉมประเทศไทย ภายใต้ความตกลงปารีส

19 ก.ย.2565 - นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยถึง ยุทธศาสตร์การผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทย ในเวทีสัมนา : NEW ENERGY แผนพลังงานชาติ สู่ ความยั่งยืน ซึ่งจัดโดย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีการยกระดับเป้าหมาย ด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างสูงสุด หลังจากทั่วโลกต่างเห็นพ้องตรงกันและให้ความร่วมมือในการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีส

 

ผ่านกรณี นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม World Leaders Summit ว่า " ประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 ”

ถ้อยแถลงดังกล่าวนั้น นายวราวุธ กล่าวว่า ถือเป็นภาพเร่งของประเทศไทย หลังจากเดิม วางเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2030 ไทยจะลดการปล่อยก๊าซให้ได้ 30% เปลี่ยนเป็น การเพิ่มศักยภาพการลดขึ้นสู่ระดับ 40% ภายในปี 2030 จาก 338 ล้านตันในแต่ละปี  
ซึ่งแม้คิดเป็นสัดส่วนต่อภาพรวมของโลก ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนระดับต่ำแค่ราว 0.8%เท่านั้น แต่กลับจะเป็น 1 ใน 10 ประเทศแรกของโลก ที่จะได้รับผลกระทบจาก Climate Change สูงสุดในอนาคต 

\'วราวุธ\' ปลุกเศรษฐกิจสีเขียว พลิกโฉมประเทศ ดัน พรบ.แก้โลกร้อน
 
" เป็นความจำเป็น ที่ประเทศไทยจะนิ่งเฉยไม่ได้ เนื่องจาก วันนี้ ระบบนิเวศทั่วโลก มีความอ่อนไหวและเปราะบาง ซึ่งอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะมีความเสี่ยงมหาศาล สะท้อนจากวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกขณะนี้ เช่น  จีนเกิดภาวะแล้งอย่างน่ากังวล ,ปากีสถานเผชิญน้ำท่วมครั้งใหญ่ ส่วนสหรัฐ เจอทั้งน้ำท่วม และ น้ำแล้ง ขณะประเทศไทย ภาพฉายที่ชัดเจน คือ ภาวะน้ำท่วมขังยืดเยื้อในกทม. ที่ไม่ได้มาจากปริมาณน้ำเหนืออย่างที่เคยเป็น แต่เป็นปริมาณน้ำฝนที่ตกถี่และมีปริมาณมากขึ้นกว่าในอดีต ล้วนมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ด้วยน้ำมือมนุษย์ทั้งสิ้น " 

\'วราวุธ\' ปลุกเศรษฐกิจสีเขียว พลิกโฉมประเทศ ดัน พรบ.แก้โลกร้อน

ทั้งนี้ นอกจากกระทรวงพลังงาน จะเป็นหลักในการดำเนินนโยบายสำคัญ เพื่อปลุกการตื่นตัวของคนในชาติแล้ว ทส. เองถือว่า มีบทบาทสำคัญต่อเป้าหมายดังกล่าวเช่นกัน ประเมิน การจะสร้างประเทศไทย ให้ไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนในทุกๆมิติ จำเป็นต้องกลับมาทบทวนแผนนโยบาย ยึดการยืนด้วยลำขาของตัวเองให้ โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทย พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ผ่านเศรษฐกิจสีเขียว ลดการพึ่งพาการนำเข้าหลายอย่าง เช่น ปุ๋ย พลังงาน เพื่อลดความเสี่ยงจากวิกฤติต่างๆของโลก ไม่ว่าจะจากโรคระบาด , ภัยธรรมชาติ และ ภัยสงคราม ก็ตาม ผ่านการขับเคลื่อน 6 ด้านหลักๆ ดังนี้ 

 

1. ด้านนโยบาย 

  • การบูรณาการเป้าหมาย net zero เข้าสู่ยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนระดับประเทศ + รายสาขา
  • ขับเคลื่อนนโยบาย BCG Model สร้าง new S-Curve ทางเศรษฐกิจ
  • การส่งเสริมภาคเกษตรในการลดก๊าซเรือนกระจก
  • เช่น การประยุกต์ใช้แนวคิด “Agri-tech with root”  , โครงการ Thai Rice NAMA – ปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ /เปียกสลับแห้ง /ปรับค่าปุ๋ย และ ไม่เผาตอซัง

 

2. ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 

เร่งขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ผ่านกลไกคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้ คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (รมว.พน. เป็นประธาน) ซึ่งมีกำหนดประชุมครั้งแรกในช่วงเดือนตุลาคมนี้ มีส่วนสำคัญและจำเป็นอย่างมากต่อการบรรลุเป้าหมายของประเทศ หากนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี ค.ศ. 2040  โดย ต้องเร่งดำเนินการใน 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่

  • การปรับปรุงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 
  • การคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมและการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี
  • รูปแบบการลงทุน 
  • มูลค่าเพิ่มของคาร์บอนเครดิตและสิทธิประโยชน์ทางภาษี 

 

3. ด้านการค้า/การลงทุน

ประสานกับ BOI จัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนในสินค้าที่เป็นต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสาขาต่างๆ เช่น พลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรม เกษตร ป่าไม้ เป็นต้น และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนสีเขียวสนับสนุน Green Procurement ภาครัฐ เช่น ปูนซีเมนต์ไฮโดรลิก และสินค้าอื่น ๆ 

 

4.ด้านการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ

อบก. ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขับเคลื่อนภาคเอกชนในการยกระดับการผลิตสินค้าและบริการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และเชื่อมต่อเเพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดเเละคาร์บอนเครดิต วันที่ 21 กันยายน 2565

 

5. การเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก 

  • ส่งเสริมการปลูกป่าธรรมชาติ (ไม้โตช้า) และปลูกป่าเศรษฐกิจ (ไม้โตเร็ว) 
  • ออกระเบียบ ปม. ทช. และ อส. ส่งเสริมการปลูกป่า และแบ่งปันคาร์บอนเครดิต 90/10
  • ให้ภาคเอกชน/ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกป่าในพื้นที่ที่มีความพร้อมดำเนินการ ในปี พ.ศ. 2565 จำนวนประมาณ 6 แสนไร่

 

6. ทส. อยู่ระหว่างผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นการดำเนินงาน ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการยกระดับจาก Voluntary เป็น Mandatory เพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตและ กลไกการเงินที่จำเป็น การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขา และการถ่ายทอดเป้าหมายนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ภายในต้นปี 2566

\'วราวุธ\' ปลุกเศรษฐกิจสีเขียว พลิกโฉมประเทศ ดัน พรบ.แก้โลกร้อน

" เป็นร่าง Climate Change Act ฉบับแรกของประเทศไทย  จริงๆ จะเสร็จแล้ว จากความสมัครใจ เป็นภาคบังคับ มีการเพิ่มเติมบทบรรญัติ เกี่ยวกับ เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม และ แนวปฎิบัติที่ชัดเจนในภาคเอกชน และ ประชาชน " 

 

นายวราวุธ กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสูงสุดของประเทศไทยดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการช่วยสนับสนุนและผลักดันทั้งนี้ อยากฝากความหวังไปยังที่ภาคเอกชน ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีศักยภาพ คาดหมายการปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่การพัฒนาที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ  และ วางแผนเพื่อรับมือกับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ส่วนภาคประชาชน กลุ่มคนรุ่นใหม่ เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและจะเป็นกลุ่มได้รับผลกระทบอย่างมากในอนาคต ควรศึกษาและนำแนวคิด Circular Living ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันด้วย

 

"ประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนาตนเอง เชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะนำพาประเทศไทยก้าวสู่ Carbon Neutrality อย่างยั่งยืน เราต้องร่วมกันดูแลโลกใบนี้ไว้เพื่อลูกหลานเราต่อไป  
"

\'วราวุธ\' ปลุกเศรษฐกิจสีเขียว พลิกโฉมประเทศ ดัน พรบ.แก้โลกร้อน