thansettakij
สศช. เผยคนต่างด้าวใช้บริการสาธารณสุขชายแดนพุ่ง 3.8 ล้านครั้งในปี 67

สศช. เผยคนต่างด้าวใช้บริการสาธารณสุขชายแดนพุ่ง 3.8 ล้านครั้งในปี 67

26 ก.พ. 2568 | 07:26 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.พ. 2568 | 07:34 น.

เผยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้จากคนต่างด้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีมูลค่าถึง 9.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ถึง 8.2 เท่าตัว

วันนี้ 26 กุมภาพันธ์ 2568  นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2567 ในส่วนของคนต่างด้าวกับระบบสาธารณสุขชายแดนไทยว่า ระบบสาธารณสุขของไทยถือเป็นระบบที่มีศักยภาพการรักษาและการให้บริการที่ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านชายแดน ทำให้มีคนต่างด้าวเข้ามาใช้บริการการรักษาในไทยเป็นจำนวนมากถึง 3.8 ล้านครั้งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้จากคนต่างด้าวในพื้นทีชายแดน กลับพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีมูลค่าถึง 9.2 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ถึง 8.2 เท่าตัว ซึ่งกว่าร้อยละ 81.1 ของมูลค่าดังกล่าวมาจากพื้นที่ชายแดน ไทย - เมียนมา โดยเฉพาะจังหวัดตาก สถานการณ์ข้างต้น จึงสร้างความกังวลกับคนไทยในหลายด้านทั้งนี้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับหน่วยบริการสาธารณสุขของจังหวัดตากที่มีอาณาเขตติดกับประเทศเมียนมา
พบข้อเท็จจริง ดังนี้ 

  • ชายแดนประเทศเมียนมาที่ติดกับจังหวัดตากขาดแคลนสถานพยาบาล ทำให้คนต่างด้าวจำเป็นต้องข้ามแดนเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่มารักษาเมื่อมีอาการป่วยหนักและมีฐานะยากจน ทำให้ไม่สามารถชำระค่ารักษาพยาบาลได้
  • คนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิในการรักษาและมารับบริการสาธารณสุขในประเทศไทย บางส่วนเป็นคนที่เกิดในประเทศไทยและควรจะได้รับสิทธิกองทุน ท.99 และ
  •  โรงพยาบาลชายแดนไทยต้องเป็นด่านหน้าในการรับมือและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยเฉพาะโรคติดต่อร้ายแรงไม่ให้ระบาดในประเทศ ซึ่งหลายกรณีแพทย์ตามโรงพยาบาลชายแดนจำเป็นต้องไปตรวจรักษาและให้บริการในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรค

สาเหตุข้างต้นทำให้เกิดผลกระทบที่โรงพยาบาลชายแดนต้องแบกรับทั้งภาระในการดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้นบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ รวมถึงภาระทางการเงินของโรงพยาบาลชายแดนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานของโรงพยาบาลชายแดนด าเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จำเป็นต้องพิจารณาประเด็น ดังนี้

  • การจัดสรรทรัพยากรสาธารณสุขให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ทั้งทรัพยากรบุคคลและงบประมาณ โดยต้องคำนึงถึงบริบทของความแตกต่างของแต่ละพื้นที่
  •  การสร้างกลไกในกาการยกระดับสาธารณสุขชายแดน โดยต้องเร่งรัดการดำเนินการตามเป้าประสงค์ของแผนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอาศัยกลไกภาคีเครือข่ายทั้งภายในและต่างประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับสาธารณสุขทั้งฝั่งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
  •  การเร่งรัดการพิสูจน์สิทธิในกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิให้ครบถ้วน โดยอาจใช้กลไกภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนช่วยในการประสานการดำเนินการ.