thansettakij
“หลอกปิดหนี้” เสียหายพุ่ง สวนทาง “คุณสู้เราช่วย” ไม่เข้าเป้า

“หลอกปิดหนี้” เสียหายพุ่ง สวนทาง “คุณสู้เราช่วย” ไม่เข้าเป้า

27 ก.พ. 2568 | 05:56 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.พ. 2568 | 06:01 น.

รายงานภาวะสังคมจากสภาพัฒน์ เปิดโปงวิธีมิจฉาชีพ “หลอกปิดหนี้” ที่สร้างความเสียหายพุ่ง 3 พันล้าน ขณะที่ “โครงการคุณสู้เราช่วย” จากธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ยังไม่เข้าเป้า

เตือนภัยคุกคามทางการเงินรูปแบบใหม่จากกลุ่มมิจฉาชีพมาในรูปแบบ “หลอกปิดหนี้” ซึ่งสร้างความเสียหายแล้วกว่า 3,000 ล้านบาท

 

ท่ามกลางวิกฤตหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2567 จากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยให้เห็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับภัยทางการเงินที่กำลังคุกคามประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบางทางการเงิน

 

รายงานภาวะสังคมฉบับดังกล่าว ระบุว่า จากภาระหนี้สินที่ทวีความรุนแรง ทำให้ลูกหนี้จำนวนมากพยายามแสวงหาทางออกเพื่อหลุดพ้นจากวงจรหนี้โดยเร็ว ซึ่งบางส่วนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่อาศัยช่องว่างความรู้ทางการเงินของประชาชน หลอกลวงผ่านคำโฆษณาชวนเชื่อ เช่น "ปิดหนี้ให้" "ไม่คิดดอก" หรือ "ดอกต่ำมาก" ก่อให้เกิดความเสียหายเบื้องต้นมากกว่า 3,000 ล้านบาท

รูปแบบการหลอกลวงที่พบบ่อย คือ การเข้ามาอ้างว่าจะช่วยปิดหนี้ แล้วชักชวนให้ลงทุนต่อผ่านการกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือที่ดิน โดยมิจฉาชีพจะขอเอกสารสำคัญของลูกหนี้ไปยื่นกู้กับธนาคาร และเมื่อได้รับอนุมัติเงินกู้ก็จะหายไปพร้อมเงิน ส่งผลให้ลูกหนี้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นแทนที่จะลดลง

 

มาตรการ "คุณสู้ เราช่วย" ยังเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย

 

ในขณะเดียวกัน รายงานภาวะสังคมระบุถึง มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากภาครัฐผ่านโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ที่ออกแบบมาเพื่อบรรเทาภาระหนี้ของประชาชน กลับพบว่ามีผู้เข้าร่วมน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก 

 

โดย ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเพียง 746,912 บัญชี จากลูกหนี้ 642,030 ราย ซึ่งคิดเป็นเพียงราว 30% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2.1 ล้านบัญชี หรือลูกหนี้ประมาณ 1.9 ล้านราย

 

 

โครงการดังกล่าวประกอบด้วยมาตรการสำคัญหลายส่วน อาทิ มาตรการ "จ่ายตรง คงทรัพย์" ที่ช่วยลดค่างวดและพักดอกเบี้ยให้กับกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถยนต์/รถจักรยานยนต์เป็นระยะเวลา 3 ปี และมาตรการ "จ่าย ปิด จบ" ที่ช่วยปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรนให้แก่ลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้เสียและมียอดหนี้คงค้างไม่เกิน 5,000 บาทต่อบัญชี

 

สำหรับลูกหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ที่ไม่ได้เป็นบริษัทในกลุ่มของธนาคารพาณิชย์ สามารถเข้าร่วมมาตรการ "ลดผ่อน ลดดอก" ซึ่งจะช่วยลดภาระค่างวดและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี ครอบคลุมสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์/รถจักรยานยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์

 

เร่งสร้างความตระหนักรู้ทางการเงิน

 

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขยายระยะเวลาเข้าร่วมโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้มากขึ้น

 

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความตระหนักรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชน เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยแนะนำให้ลูกหนี้ไตร่ตรองด้วยเหตุและผลก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง

 

หากประชาชนมีความต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สิน สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย 1213 กด 99 หรือ 1443 (คลินิกแก้หนี้) รวมถึงติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้โดยตรง เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างถูกต้องและปลอดภัย