นางสาวเด่นดาว โกมลเมศ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า เตรียมงบลงทุนในไทยไว้ไม่ต่ำกว่า 7 พันล้านบาทในปี 68 เพื่อขยายพื้นที่และพัฒนาที่ดินรองรับการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรม โดยพื้นที่นิคมฯในแต่ละแห่งตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ทางด้านการค้าที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลุ่มอมตะมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยสิ้นปี 67 มีกระแสเงินสดประมาณ 5 พันล้านบาท และยอดขายที่รอรับรู้รายได้จากการโอนอยู่จำนวนมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท
สำหรับในปี 2568 ตั้งเป้าหมายยอดขายที่ดินทั้งในไทยและต่างประเทศ 3,500 ไร่ เติบโตจากปีก่อนมากกว่า 15% โดยเฉพาะในเวียดนามที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก ทั้งญี่ปุ่น จีน เกาหลี และยุโรป เป็นต้น
ส่วนแผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ,นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง และนิคมอุตสาหกรรม ไทย- จีนนั้น ทางกลุ่มอมตะจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางด้านพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อมตะทุ่ม 7 พันล้านขยายพื้นที่ รับนักลงทุนย้ายฐานหนีสงครามการค้า
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าปี 68 เป็นที่มีความท้าท้าย จากปัจจัยทั้งภายในประเทศที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้า ปัญหาค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือน และปัจจัยภายนอกประเทศ อย่างภาวะเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าและภาษีของสหรัฐฯ ทำให้เกิดการขยายฐานการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง ไปยังประเทศที่มีศักยภาพ ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และมีความพร้อมทางโครงสร้างพื้นฐาน
นายโอซามู ซูโด รักษาการประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่ากลุ่มอมตะให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ที่สร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ดังนั้นแผนการการดำเนินงานในปี 2568 จึงได้เตรียมความพร้อมในด้านการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและนำนวัตกรรมพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ โดยกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ จีน และญี่ปุ่น รวมถึงกลุ่มประเทศแถบยุโรป
โดยเฉพาะจีนยังมีทิศทางของการย้ายฐานการลงทุนต่อเนื่อง เป็นผลมาจากมาตรการการขึ้นภาษีของ สหรัฐฯ ทำให้ผู้ประกอบการจีนมีการวางแผนย้ายฐานการผลิต เพื่อการบริหารความเสี่ยงด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
ด้วยระบบ Supply Chain และสาธารณูปโภคที่ทันสมัย รวมถึงความมั่นคงด้านพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสิทธิประโยชน์จากนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้กลุ่มอมตะได้รับความสนใจจากนักลงทุน โดยเฉพาะใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลักตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่
1. อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วน 2. อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) 3.อุตสาหกรรมดิจิทัล Data Center และ Cloud Region 4. อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต และ 5. อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน
นายวรงค์ ตังประพฤทธิ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะซิตี้ ลาว จำกัด กล่าวว่า พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม อมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ นาหม้อ ในสปป.ลาว ปัจจุบันมีทั้งหมด 20,000 ไร่ เป็นที่ดินที่พร้อมพัฒนาแล้ว จำนวน 5,600 ไร่ ซึ่งนิคมฯดังกล่าวถือว่าเป็นเขตเศรษฐกิจแห่งใหม่ของสปป.ลาวที่กลุ่มอมตะได้นำนวัตกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมาพัฒนาและจะผลักดันให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเป็นประตูการค้าสู่ประเทศจีนตอนใต้ โดยอาศัยเส้นทางรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวอยู่ห่างจากชายแดนจีนเพียง40กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ทางนิคมอุตสาหกรรม อมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ นาหม้อ ในสปป.ลาวได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนสูงสุดในภูมิภาค และสิทธิการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุน โดยการได้รับยกเว้นภาษี 30 ปี สำหรับผู้ลงทุนใน 7 ปีแรกที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร เพื่อสนับสนุนการใช้วัตถุดิบภายในให้มีมูลค่ามากขึ้น,อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์พลังงานทดแทน,อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์และอาหาร,อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งแนวทางการพัฒนาของกลุ่มอมตะในลาวนำไปสู่การพัฒนาเป็นเมืองที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในระยะยาว ที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว และภูมิภาคในอนาคต