วันนี้ (1 เม.ย. 68) ที่โรงแรมอัศวินแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ สำนักงาน กสทช. ได้จัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ หรือ ประชาพิจารณ์ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ 1500 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2100 เมกะเฮิรตซ์ 2300 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ อีกครั้ง หลังจากที่เคยประชาพิจารณ์ ไปแล้วเมื่อ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา
สำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ มีจำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ 1.คลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูล 2.วิธีการประมูล 3.ราคาขั้นต่ำ (Reserve Price) 4.เงื่อนไขการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่และการจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคม 5.เงื่อนไขเกี่ยวกับการให้ดำเนินการเพื่อสังคม และการคุ้มครองผู้บริโภค 6.ประเด็นอื่น ๆ อาทิ ความเห็นเกี่ยวกับคลื่น 3500 MHz หากนำมาประมูลตามแผนแม่บทด้วยนั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์กับอุตสาหกรรมและประเทศชาติ
ประมูลคลื่นราคาต้องหมาะสม
ดร.ไพโรจน์ ไววานิชกิจ นักวิชาการโทรคมนาคม กล่าวว่า การนำย่านความถี่ 2100 MHz ทั้งผืนมาจัดสรรใน คราวเดียวนั้นช่วยให้เกิดการใช้คลื่นความถี่มีประสิทธิภาพ ผู้เข้าประมูลสามารถวางแผนคลื่นได้ล่วงหน้าช่วยเพิ่มมูลค่า และความต้องการในการใช้งานคลื่น ซึ่งจะให้มีความคุ้มค่า ในการประมูลคลื่นมากกว่าการแยกประมูลไม่เต็มผืน นอกจากนี้แล้ว กสทช. ควรแยกช่วงความถี่คลื่น 2100 MHz จำนวน 3 Slot ที่หมดอายุปี 2568 และ คลื่น 2100 MHz จำนวน 9 Slot ที่หมดอายุปี 2570 ออกเป็นคนละกลุ่มใน การประมูลครั้งนี้ เนื่องจากมีความต้องการใช้คลื่นและเวลาเริ่มต้นใช้คลื่นแตกต่างกัน
ผศ.ดร.ชูชาติ เตชะโพธิวรคุณ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า หากมีประมูลแยกกัน สำนักงาน กสทช. ก็จะมีต้นทุนและภาระในการจัดประมูลเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งครั้งโดยไม่จำเป็น การประมูลคลื่นล่วงหน้าสามารถทำได้ตามกฎหมาย ซึ่งจะช่วยไม่ให้เกิดปัญหาอุปสรรคในช่วงเปลี่ยนผ่านตอน ใบอนุญาตเดิมใกล้หมดอายุ
นอกจากนี้ การประมูลไม่พร้อมกันจะทำให้มูลค่าคลื่นลดลง เพราะในการประมูลแต่ละครั้ง สำนักงาน กสทช. ต้องมีการ ตีมูลค่าคลื่นใหม่ตามบริบททางด้านต่างๆ ที่เปลี่ยนไป ดังนั้น จึงไม่มีหลักประกันใดว่าหากมีการประมูลในปี 2570 จะมีราคาสุดท้ายที่สูงกว่าประมูลพร้อมกันในปี 2568
หวั่นประมูลแพงกระทบค่าบริการ
นายนราพล ปลายเนตร ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า การตั้งราคาคลื่นที่แพงไม่สอดคล้องกับมูลค่าที่แท้จริง จะส่งผลต่อค่าบริการที่อาจจะสูงขึ้น ดังนั้น สำนักงาน กสทช. ไม่ควรกำหนดราคาขั้นต่ำสูงเกินไป การตั้งมูลค่าและราคาคลื่นที่ไม่เหมาะสมสูง หรือ ต่ำเกินไปจะกระทบโครงสร้างต้นทุนและงบประมาณในการลงทุน ซึ่งอาจจะส่งผลต่ออัตราค่าบริการและอาจจะกลายเป็นภาระของผู้บริโภคในอนาคตได้
นายปริวุฒิ บุตรดี ภาคประชาชน ระบุว่า สำนักงาน กสทช. ควรจะต้องมีการวางแผนในการกำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่นอกเหนือจากการประมูลเพียงอย่างเดียว เช่น อาจจะใช้วิธีการ Beauty Contest ที่ประกวดผลตอบแทนให้ภาครัฐทั้งที่เป็น ส่วนของเงินค่าตอบแทน และในส่วนของ เทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจนการส่งเสริมการเข้าถึงโครงข่าย โทรคมนาคมให้กับผู้ด้อยโอกาส และในพื้นที่ห่างไกล
ย้ำจ่าย 3 งวดรัฐได้ประโยชน์
ผศ.ดร.ชูชาติ เตชะโพธิวรคุณ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า สำนักงาน กสทช. ไม่ควรเพิ่มเติมเงื่อนไข 10 งวด งวดละ 10% ให้กับรายใหม่ เพราะการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดการเข้ามายื่นประมูล โดยไม่ได้หวังจะนำคลื่นความถี่ไปใช้งานจริง แต่มีวัตถุประสงค์อื่นๆ แอบแฝง ซึ่งในอดีตทาง กสทช. ก็เคยมีบทเรียนในเรื่องนี้มาแล้ว
นอกจากนี้ การผ่อนชำระ 3 งวด ก็ทำให้รัฐได้เงินก้อนแรก 50% เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ โดยหลักของ Cashflow แล้วก็ได้เงินค่าประมูลเร็วกว่า มากกว่า ย่อมเป็นผลดีต่อประเทศชาติมากกว่า การที่ผู้เข้าประมูลมีความพร้อมในการชำระเงินค่าประมูล ย่อมแสดงถึงสภาพทางการเงินที่ดีของผู้เข้าประมูล ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการทิ้งใบอนุญาตดังเช่นในอดีต
เชื่อ 3500 MHz หนุนอุตสาหกรรม
ดร.ไพโรจน์ ไววานิชกิจ นักวิชาการโทรคมนาคม กล่าวย้ำว่า คลื่น 3500 MHz เป็นคลื่น 5G Standard ทั่วโลก แต่ไทยยังไม่นำมาใช้งานในกิจการนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ยังไม่มีการใช้งานคลื่น 3500 MHz สำหรับ 5G หากมีการนำมาใช้จะสามารถยกระดับความเร็วได้ สูงกว่า 2 Gbps ทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเครือข่าย 5.5G ได้
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ประเทศไทยทัดเทียมกับประเทศอื่น และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี ตลอดจนบริการที่เกี่ยวข้องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ภาคบริการสาธารณสุขให้กับประชาชน ส่งเสริมการสร้างอาชีพใหม่ๆ ให้กับประชาชนในแขนงต่างๆ เช่น e-commerce เป็นต้น
วรศิริ ผลเจริญ นักวิชาการ กล่าวว่า การใช้งาน 5G บนคลื่นความถี่ 3500 MHz เพิ่มโอกาสในการประยุกต์ใช้งานนวัตกรรมต่างๆ การนำคลื่น 3500 MHz มาประยุกต์ใช้อุปกรณ์ต่างๆในระบบ 5G ของภาคเอกชนนั้น จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ที่จะช่วยต่อยอดและช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้เกิดผู้พัฒนา Solution บนอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ เช่น ทางด้านการแพทย์ ช่วยให้เกิดการพัฒนาทางด้านโทรเวชกรรม ทางด้านอุตสาหกรรม ช่วยให้เกิดการพัฒนาเกี่ยวกับ Automated Factory & Mining ทางด้านอุตสาหกรรม Software/Platform ช่วยให้เกิดการประยุกต์ใช้ AR / VR ตลอดจน Automated vehicle และ Logistic ทางด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ช่วยต่อยอดเรื่อง Sensor และ Alert system เช่น การตรวจจับความร้อนไฟป่า เป็นต้น
นายกรวุฒิ อาศนะ นักวิชาการ แสดงความเห็นว่า คลื่น 3500 MHz มาใช้พัฒนา 5G ได้เป็นอย่างดี และยังมีผู้ให้บริการ 217 ราย จาก 262 รายทั่วโลก (มากกว่า 80%) ได้นำคลื่น 3500 MHz มาใช้งาน ซึ่งทำให้คลื่น 3500 MHz มีอุปกรณ์ลูกข่ายรองรับมากที่สุดในกลุ่มเทคโนโลยี 5G
ทีวีดิจิทัลหนุนประมูลคลื่น 3500MHz
นายปรเมนทร์ ภักดิ์วาปี อดีตผู้บริหารทีวีดิจิทัล ระบุว่า การใช้งานคลื่น 3500 MHz ร่วมกันระหว่าง 2 อุตสาหกรรม คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และ TV ที่รับสัญญาณผ่านจาน ดาวเทียม C-Band จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ ผลกระทบของสัญญาณรบกวนที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากปี 2568-2572 นั้น หากมีการดำเนินการอย่างมีแบบแผน ทั้งในแง่ของการติดตั้งเสาโทรศัพท์ และการสำรวจเพื่อแก้ไขปัญหาสัญญาณรบกวนกันอย่างเป็นระบบ
เช่น การสำรวจบ้านเรือนโดยรอบสถานีฐาน ว่ามีจำนวนกี่หลังคาเรือนที่ต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์กรอง สัญญาณหรือ Filter ก็จะสามารถลดข้อกังวลของผู้รับชม TV ซึ่งน่ามีได้รับผลกระทบไม่มาก และเชื่อว่า กสทช. สามารถ กำหนดเป็นหลักเกณฑ์และเงื่อนไข วิธีการแก้ไขปัญหาสัญญาณรบกวนให้กับผู้ชนะการประมูลได้
นายพีระพัฒน์ เอกวิทยาสกุล ตัวแทนทีวีดิจิทัล กล่าวว่า คลื่นความถี่ 3500 MHz มีประโยชน์ทั้งด้านทีวีและโทรคมนาคม ซึ่งน่าจะเป็นคลื่นที่มีมูลค่าต่อเศรษฐกิจบ้านเราสูงมาก
ดังนั้น จะเห็นว่าทั้งสองอุตสาหกรรม สามารถอยู่ร่วมกันได้ หากมีการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบทั้งภาครัฐ หรือ กสทช. และภาคเอกชนทั้งสองอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่นำมา ประมูลในช่วงเวลานี้ เพราะหากพ้นช่วงปี 2572 ไปแล้ว อาจจะไม่มีหลักประกันใดๆ ในการแก้ไขปัญหาสัญญาณ รบกวน หรืออาจจะสายเกินไปในการวางแผนใช้งานคลื่นดังกล่าว หรือเรียกว่า “การเตรียมตัวล่วงหน้า”
ทั้งนี้ หลังการรับฟังความคิดเห็นแล้ว จะมีการนำข้อมูลมารวบรวมเพื่อนำเสนอต่อ กสทช.และคาดว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะต้องเลื่อนวันประมูลออกไป 1-2 อาทิตย์ เป็นช่วง ปลายเดือน พ.ค-ต้น เดือน มิ.ย.นี้แทน จากกำหนดวันประมูลเดิม คือ 17-18 พ.ค. 2568