นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงต่อสภาฯ ถึงหลักการและเหตุผล ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อเดินหน้าโครงการหวยเกษียณ ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลมีการริเริ่มและมีการคิดถึงโครงการนี้ เกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
1. ประเทศไทยเราเข้าสู่สังคมสูงวัย และเข้าสู่สังคมสูงวัยด้วยอัตราเร่งสูง กับเพื่อนบ้านเทียบกับคู่แข่งทางเศรษฐกิจ
2. เราเข้าสู่สังคมสูงวัย ในขณะที่พี่น้องประชาชนของเรานั้น ยังมีการออมที่ไม่เพียงพอสำหรับการที่จะดำรงชีวิตในยามชราภาพ นั่นหมายถึงเกษียณ ไม่สามารถหาเงินได้ แต่เงินออมไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีพ
“ทั้งสองปัจจัยนี้ถ้าจะเรียกให้เป็นภาษาที่ง่ายๆ เราอาจจะเรียกได้ว่าพี่น้องประชาชนแก่แต่ยังไม่มีเงินเก็บ หรือแก่แต่จน ซึ่งภาวะนี้เป็นภาวะที่รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญ และเห็นถึงภาวะที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน ด้วยการที่ต้องสร้างให้ประชาชนมีแรงจูงใจในการออมขึ้น”
ทั้งนี้ หากมองสิ่งที่สนับสนุนการออมในปัจจุบัน เรามีการออมภาคบังคับ และการออมสมัครใจ ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังมีส่วนที่ต้องเติมเต็มเข้าไป
“รัฐบาลจึงเห็นความสำคัญของการใช้ระบบการออมที่ใช้แรงจูงใจในการออม เราค้นพบกับว่าคนไทยชอบเรื่องการเสี่ยงโชคชอบเรื่องการเสี่ยงดวง และลงไปมากกว่านั้น คือ ประชาชนบางส่วนของเราไปซื้อหวยใต้ดิน รัฐบาลจึงใช้แรงจูงใจเหล่านั้น และออกเป็นสลาก กอช.”
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า นโยบายสลากกอช. นั้น เป็นนโยบายเกษียณ กลไก คือ ประชาชนซื้อสลากผ่านแอพพลิเคชั่น กอช. และจะได้ลุ้นรางวัล ซึ่งรัฐบาลประสานงานจากสำนักงานสลากฯ ก็จะรางวัลทุกสัปดาห์ โดยการจับรางวัลนั้น มีรางวัลที่ 1, รางวัลที่ 2, และรางวัลแจ๊คพอท
สำหรับผู้ที่ถูกรางวัล เงินรางวัลที่ออกจะถูกโอนเข้าบัญชีพี่น้องประชาชนโดยอัตโนมัติทันที และหากไม่ถูกรางวัลถ้าเป็นสลากปกติ หรือเป็นลอตเตอรี่ เงินต่างๆ ที่ซื้อไปก็จะหายไปแล้ว แต่สลากเกษียณนั้นเงินต้นที่ซื้อไปทุกบาททุกสตางค์ไม่หายไม่ว่าท่านจะถูกรางวัลหรือไม่ถูกรางวัล
“เงินทั้งหมดที่ซื้อสลากไป จะมีผลตอบแทนการลงทุนที่นำไปลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำเงินทั้งหมด และผลตอบแทนการลงทุนจะถูกโอนคืนให้กับพี่น้องประชาชนทุกบาททุกสตางค์ เมื่อท่านอายุ 60 ปี ซึ่งนี่เป็นกลไกแรงจูงใจในการลุ้นโชค ทำให้เกิดการออมขึ้น”
ทั้งนี้ เงินรางวัลที่ดำเนินการนโยบายดังกล่าว มาจากงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งเราใช้งบประมาณ เฉลี่ยปีละ 700 กว่าล้านบาท ซึ่งสามารถดึงเม็ดเงินของพี่น้องประชาชนที่ทำให้เกิดการออมเพิ่มขึ้นปีละ 1.3 หมื่นล้านบาท เหล่านี้คือเงินออมที่เพิ่มขึ้น 1.3 แสนบาท นอกจากนี้ เราได้ขยายเกณฑ์การออมสลากดังกล่าว ไปสำหรับคนที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีด้วย
สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติพ.ศ. 2554 หลักการแก้ไขเพิ่มเติม มีรายละเอียด ดังนี้
1. เพิ่มบทนิยามคำว่า สลากกอช. ผู้ออมทรัพย์ และคำว่าเงินออมทรัพย์ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3
2. แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ทรัพย์สินและอำนาจกระทำกิจการของกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อรองรับการออกและขายสลากออมทรัพย์ เพื่อการดำรงชีพในยามชราภาพของกองทุนการออมแห่งชาติ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5 วรรค 3 และเพิ่มเติมมาตรา 7(2) / 1 และมาตรา 9 (2) / 1
3. เพิ่มอำนาจคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ ในการกำหนดวิธีขายสลากออมทรัพย์ เพื่อการดำรงชีพในยามชราภาพ วิธีการชำระเงินเพื่อซื้อสลากออมทรัพย์ เพื่อการดำรงชีพในยามชราภาพ และวิธีการจ่ายเงินรางวัลเพิ่มมาตรา 20 (1) / 1
4. เพิ่มบทบัญญัติเพื่อรองรับการออกและขายสลากออมทรัพย์เพื่อการดำรงชีพในยามชราภาพ และสิทธิประโยชน์ของผู้ออมทรัพย์ เพิ่มหมวด 3 / 1 การออกและการขายสลากกอช. และสิทธิประโยชน์ของผู้ออมทรัพย์ มาตรา 44 / 1ถึงมาตรา 44 / 14
5. เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน และการบัญชีของกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อรองรับการบริหารจัดการเงินที่ผู้ออมทรัพย์ซื้อสลากออมทรัพย์ เพื่อการดำรงชีพในยามชราภาพและผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว เพิ่มมาตรา 46 (2)/1 และ 2 /2 และมาตรา 49 / 1 และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 46 (3) และมาตรา 50 (1)
6. แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของกองทุนการออมแห่งชาติ ในการแจ้งให้ผู้ออมทรัพย์ทราบถึงยอดเงินที่ผู้ออมทรัพย์ซื้อสลากออมทรัพย์ เพื่อการดำรงชีพในยามชราภาพ และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว แก้ไขมาตราเพิ่มเติม 51 เหตุผลคือ โดยที่มาตรา 74 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อวัยทำงาน
แต่เนื่องจากในปัจจุบันระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราภาพของประเทศไทยยังไม่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม และประชาชนที่เข้าสู่ระบบการออมดังกล่าวยังมีจำนวนไม่มาก และกองทุนการออมแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริมการออมขั้นพื้นฐานของประเทศ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยกองทุนออมแห่งชาติ เพื่อกำหนดให้กองทุนการออมแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจในการออกและขายสลากออมทรัพย์ เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ แก่ประชาชนสำหรับการดำรงชีพในยามชราภาพ
โดยการออกและขายสลากให้แก่ผู้ซึ่งประสงค์จะออมทรัพย์เมื่อเริ่มเริ่มต้นทำงาน และนำเงินที่ได้รับจากการขายสลากดังกล่าวประโยชน์ และคืนเป็นเงินออมทรัพย์ในยามชราภาพให้แก่ผู้นั้นเมื่ออายุตามที่กำหนด อันจะเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนมีการออมทรัพย์เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพ.ร.บ.นี้