ITD หุ้น 5 เสือรับเหมา มาร์เก็ตแคป 1.6 หมื่นล้าน ดำดิ่งเหลือ 844 ล้านใน 4 ปี

06 เม.ย. 2568 | 06:28 น.
อัปเดตล่าสุด :06 เม.ย. 2568 | 07:53 น.

เจาะลึกบทเรียนธุรกิจ อิตาเลียนไทย (ITD) จาก 5 เสือบริษัทรับเหมาก่อสร้างชั้นนำของไทย สู่วิกฤตสภาพคล่อง ขาดทุนสะสม 1.2 หมื่นล้าน และมาร์เก็ตแคปที่ร่วงจาก 16,684 ล้านเหลือเพียง 844 ล้านบาท ท่ามกลางเหตุการณ์ล่าสุดกรณีอาคาร สตง.ถล่ม

หากพูดถึงบริษัทรับเหมาก่อสร้างคงไม่มีใครที่ไม่รู้ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD หนึ่งใน 5 เสือแห่งวงการรับเหมาก่อสร้างไทย ที่คว้าไลเซนส์โครงการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานภาครัฐและเอกชนทั้งน้อยใหญ่ มาไว้ในมืออย่างมากมาย

โครงการเด่นที่สร้างชื่อให้ ITD อาทิ งานก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ งานก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน ทั้งรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดินหลากหลายเส้นทาง งานก่อสร้างอุโมงค์รถไฟคู่ขนาด งานก่อสร้างรถไฟทางคู่ งานก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินทั้งในและต่างประเทศ

ITD เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในปี 2537 ด้วยทุนจดทะเบียน 2,500 ล้านบาท และด้วยผลประกอบการที่มีการเติบโตดีมาต่อเนื่อง ทำให้บริษัทมีทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 6,337.92 ล้านบาท มีทุนชำระแล้ว 5,279.87 ล้านบาท

ถัดจากนั้นไม่นานก็ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์การเงิน 2540 หรือ "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ทำให้ ITD ต้องทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และสิ้นสุดกระบวนการดังกล่าวในปี 2545

แต่อะไรก็ไม่แน่นอนเพราะในระหว่างทางการดำเนินธูรกิจก็ไม่ได้สวยหรู ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นผลให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานชะลอตัวลง

เมื่องานมีน้อยการแข่งขันราคาก็ย่อมรุนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้เล่นในอุตสาหกรรมต่างก็ต้องการช่วงชิงงานเพื่อมาจุนเจือให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้

จากปัจจัยดังกล่าวเป็นผลให้อัตรากำไร (มาร์จิ้น) ต่อโครงการลดลงจนเรียกได้ว่าแทบเข้าเนื้อ ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างหลายรายปรับกลยุทธ์ธุรกิจใหม่หันเข้าซบอกรับงานจากภาคเอกชนมากขึ้น

ขณะที่การลงทุนในโครงการเมกกะโปรเจกต์หลายโครงของ ITD ก็มีเกิดปัญหาการดำเนินโครงการล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะการลงทุนใน โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในประเทศเมียนมา ที่ทำให้เงินลงทุนของ ITD จมเกือบ 8 พันล้านบาท

เคราะห์ซ้ำ ITD คดีเสือดำ ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในปี 2561 ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ ITD และทำให้บริษัทต้องเผชิญกับแรงกดดันจากทั้งนักลงทุนและสังคม ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น

แต่แล้ววิกฤตโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ก็มาเป็นคลื่นระลอกใหม่ ซ้ำเติมเศรษฐกิจ แม้กระทั่งกิจกรรมต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศก็ต้องหยุดชะงักกันหมด

ต่อมาในปี 2567 ITD ต้องประสบกับปัญหาสภาพคล่อง จนต้องเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้เพื่อขอยืดชำระหนี้หุ้นกู้ และเจรจากับทางกลุ่มธนาคารเพื่อที่จะขอวงเงินสินเชื่อเพื่อมาหมุนเวียนในการดำเนินโครงการเพิ่มเติม

แม้ว่าจะมีการเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องมาโดยตลอด แต่ในทางบัญชี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้เรื่องการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ทำให้สถาบันการเงินมีสิทธิเรียกชำระคืนเงินกู้ยืมทันทีจำนวน 3,413.35 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น 51.65 ล้านบาท และระยะยาว 3,361.70 ล้านบาท

แต่เหตุการณ์กลับไม่เลวร้าย เมื่อบริษัทได้รับหนังสือจากสถาบันการเงินให้ความยินยอมและผ่อนผันเงื่อนไขดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ขณะที่ผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 5 รุ่น มูลค่ารวม 14,455 ล้านบาท ได้มีมติให้บริษัทเลื่อนชำระหุ้นกู้ออกไปอีก 2 ปี นับจากวันครบกำหนดไถ่ถอนเดิม

เมื่อดูงบการเงินล่าสุดของ ITD ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 กลุ่มบริษัทมีขาดทุนหลังภาษีถึง 4,950.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากปีก่อนที่ขาดทุน 421.54 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีขาดทุนสะสมสูงถึง 12,138.78 ล้านบาท

ขณะที่สถานการณ์ด้านสภาพคล่อง กลุ่มบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนถึง 13,553.78 ล้านบาท ซึ่งหนี้สินส่วนใหญ่ประกอบด้วยเงินเบิกเกินบัญชี เงินกู้ยืมระยะสั้น และเงินกู้ยืมระยะยาวที่ถูกจัดประเภทเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นเนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญา

เหตุการณ์ล่าสุดที่ทำให้ ITD เป็นที่จับตามองจากสังคมอีกครั้ง คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เป็นเหตุให้อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ซึ่งมีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์ซีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง

ย้อนรอยมาร์เก็ตแคป ITD

ราคาหุ้น ITD เคยปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 3.16 บาทต่อหุ้น เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564 ทำให้มาร์เก็ดแกป ณ ตอนนั้นทยานขึ้นไปอยู่ที่ 16,684.38 ล้านบาท ขณะที่ราคาต่ำสุด ณ วันที่ 1 เมษายน 2568 ที่ราคา  0.16 บาท มาเก็ตแคปลดวูบลงมาเหลือ 844.779 ล้านบาท หรือลดลง 15,839.601 ล้านบาท

มูลค่า Market Cap ย้อนหลัง 5 ปี 

  • ปี 2563 อยู่ที่ 5,860.65 ล้านบาท
  • ปี 2564 อยู่ที่ 12,038.10 ล้านบาท
  • ปี 2565 อยู่ที่ 10,084.55 ล้านบาท
  • ปี 2566 อยู่ที่ 4,540.69 ล้านบาท
  • ปี 2567 อยู่ที่ 2,903.93 ล้านบาท

ข้อมูลผู้ถือหุ้นใหญ่ 17 อันดับแรก (ณ วันที่ 08 พ.ย. 67)

  • นายเปรมชัย กรรณสูต จำนวน 628,213,626 หุ้น คิดเป็น 11.90%

  • นางนิจพร จรณะจิตต์ จำนวน 350,815,140 หุ้น คิดเป็น 6.64%

  • บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวน 183,637,496 หุ้น คิดเป็น 3.48%

  • นายปัณณกุนท์ วัฒนาอุดม จำนวน 47,910,000 หุ้น คิดเป็น 0.91%

  • นายไชยา สกุลชัยวาณิชย์ จำนวน 47,006,750 หุ้น คิดเป็น 0.89%

  • นายยัสบีรซิงห์ กูลาตี จำนวน 43,737,800 หุ้น คิดเป็น 0.83%

  • นายเด่นดนัย หุตะจูฑะ จำนวน 40,496,100 หุ้น คิดเป็น 0.77%

  • นางจันทน์ทรา ธีระวาณิชย์ จำนวน 40,220,400 หุ้น คิดเป็น 0.76%

  • นางสาวปราชญา กรรณสูต จำนวน 38,839,766 หุ้น คิดเป็น 0.74%

  • EAST FOURTEEN LIMITED-DFA EMERG MARKET CORE EQ PORT จำนวน 38,642,672 หุ้น คิดเป็น 0.73%

  • บริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำนวน 34,680,000 หุ้น คิดเป็น 0.66%

  • นางสาวชไมมาส กรรณสูต จำนวน 32,594,681 หุ้น คิดเป็น 0.62%

  • SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED จำนวน 30,977,159 หุ้น คิดเป็น 0.59%

  • นางอรเอม กรรณสูต จำนวน 29,300,000 หุ้น คิดเป็น 0.55%

  • นายธนพล เลิศนันทปัญญา จำนวน 28,500,000 หุ้น คิดเป็น 0.54%

  • นายธรณิศ กรรณสูต จำนวน 28,210,960 หุ้น คิดเป็น 0.53%

  • นายเสกข์สรร ธีระวาณิชย์ จำนวน 27,759,031 หุ้น คิดเป็น 0.53%

จากการตรวจสอบข้อมูลการลงทุนของ ITD พบว่า ข้อมูลนับตั้งแต่วันที่ 30 เดือนกันยายน 2553 เป็นต้นมา มีการลงทุนในบริษัทย่อยทั้งทางตรงและโดยทางอ้อม รวมกว่า 48 บริษัท ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา สปป.ลาว มาเลเซีย อาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน และบังคลาเทศ เป็นต้น

โครงสร้างรายได้ของ ITD นั้น มาจากในประเทศ 42.05% และที่เหลืออีก 57.95% มาจากต่างประเทศ โดยรายได้ของ ITD มาจากหลายส่วนธุรกิจ โดยแบ่งสัดส่วนออกเป็น

  • งานก่อสร้างอาคารสำนักงาน อาคารชุด และโรงแรม 12.24%
  • งานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 2.40%
  • งานวางท่อระบบขนส่งน้ำมัน แก๊สและน้ำ ท่อร้อยสายไฟใต้ดิน และถังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ 12.29%
  • งานก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน ทางรถไฟ ระบบขนส่งมวลชน ระบบทางด่วน 28.33%
  • งานก่อสร้างสนามบิน ท่าเรือ และงานทางทะเล 21.08%
  • งานสร้างเขื่อน อุโมงค์และโรงผลิตกระแสไฟฟ้า 5.05%
  • งานระบบโครงสร้างเหล็ก 0.00%
  • งานด้านการวางระบบสื่อสารและโทรคมนาคม 0.44%
  • งานด้านการพัฒนาเหมือนแร่ และถ่านหิน 5.55%
  • รายได้จากโครงการที่ไม่สามารถจัดกลุ่มได้ 8.97%
  • รายได้อื่นๆ 3.65%

เลื่อนไถ่ถอนหุ้นกู้

นอกจากนี้ ITD ยังมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนตั้งแต่ปี 2569-2571 อายุเฉลี่ยตั้งแต่ 3.51-7.01 ปี อีกจำนวน 5 ชุด ได้แก่ ITD242A, ITD24DA, ITD254A, ITD266A และ ITD24DB มูลค่ารวมกว่า 14,485 ล้านบาท ซึ่งเป็นแบบที่ไม่มีหลักค้ำประกัน ที่การเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ (II/HNW)

ทั้งนี้ หุ้นกู้ ITD ทั้ง 5 ชุดดังกล่าว ปัจจุบันถูกขึ้นเครื่องหมาย RS กำกับไว้ นั้นหมายความว่าที่ ประชุมผู้ถือหุ้นกู้มีมติอนุมัติให้ปรับโครงสร้างหนี้ หรือ แก้ไขวันครบกำหนด ไถ่ถอนตราสารหนี้ หรือวันครบกำหนดชำระเงิน ซึ่งอีกนัยหนึ่งอาจบ่งบอกถึงปัญหาสภาพคล่องของบริษัท

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 31 มีนาคม 2568 ทาง ITD แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมาเป็นเหตุทำให้โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ที่อยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้างตัวอาคาร 30 ชั้น ถล่มลงมา

ในการนี้บริษัทซึ่งเป็นหนึ่งในกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์ซี ได้ทำประกันภัยเต็มมูลค่างานตามสัญญา จำนวน 2,136 ล้านบาท และครอบคลุมอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ รวมถึงการคุ้มครองความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกอีกจำนวน 100 ล้านบาท บริษัทจึงมีความมั่นใจว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างโครงการอื่นๆ ของบริษัท และหากมีความคืบหน้าเพิ่มเติมบริษัทจะชี้แจงให้ทราบเป็นระยะต่อไป

อนึ่ง ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขึ้นเครื่องหมาย CB และ CS กำกับการซื้อขายของหุ้น ITD เครื่องหมาย CB ถูกขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งยังไม่มีกำหนดปลดเครื่องหมาย เช่นเดียวกันกับเครื่องหมาย CS ที่ถูกขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567