thansettakij
“หมอเลี๊ยบ” ผ่าทิศทาง “ซอฟต์พาวเวอร์” บนความหวังเครื่องยนต์ศก.ใหม่

“หมอเลี๊ยบ” ผ่าทิศทาง “ซอฟต์พาวเวอร์” บนความหวังเครื่องยนต์ศก.ใหม่

14 เม.ย. 2568 | 00:32 น.
อัปเดตล่าสุด :14 เม.ย. 2568 | 05:37 น.

สัมภาษณ์พิเศษ “หมอเลี๊ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เปิดทิศทางนโยบายรัฐบาลขับเคลื่อน Soft Power เครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ของไทย

ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังเผชิญในปัจจุบัน คำว่า "ซอฟต์พาวเวอร์" (Soft Power) กลายเป็นความหวังใหม่ที่รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญ อันที่จริงแล้ว ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่เป็นพลังอำนาจทางวัฒนธรรมที่หลายประเทศทั่วโลกได้นำมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้กับคลื่น K-Wave ที่สร้างปรากฏการณ์ระดับโลก หรือญี่ปุ่นกับวัฒนธรรมมังงะและอนิเมะที่ทรงอิทธิพล

ประเทศไทยเองก็มีทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายและเข้มแข็ง ทั้งอาหาร มวยไทย ดนตรี ศิลปะ และวิถีชีวิตที่มีเอกลักษณ์ แต่กระนั้น เรายังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ คำถามสำคัญคือ ทำอย่างไรประเทศไทยจึงจะสามารถแปลงทุนทางวัฒนธรรมให้กลายเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบและยั่งยืน?

ฐานเศรษฐกิจ และสื่อมวลชนสายเศรษฐกิจประจำทำเนียบรัฐบาล มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “หมอเลี๊ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษาคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์และแนวทางการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ภายใต้เป้าหมายสำคัญคือการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว

ซอฟต์พาวเวอร์ ไพ่เด็ด ปรับโครงสร้างศก.ไทย

นพ.สุรพงษ์ ฉายภาพว่า เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุค "BANI" (Brittle-Anxious-Nonlinear-Incomprehensible) ที่เต็มไปด้วยความเปราะบาง ความวิตกกังวล การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นเส้นตรง และสถานการณ์ที่ยากต่อการเข้าใจ ประเทศไทยจำเป็นต้องหาเครื่องมือใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่ง "ซอฟต์พาวเวอร์" คือคำตอบและเป็น "ไพ่เด็ดในมือ" ที่จะช่วยพลิกโฉมโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้แข่งขันได้ในเวทีโลก

 

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษาคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษาคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ

 

"อุตสาหกรรมเดิมที่เป็นบุญเก่าของประเทศไทยมาตั้งแต่ในอดีตนั้นไม่สามารถที่จะเติบโตได้มากอีกแล้ว ดังนั้นซอฟต์พาวเวอร์จึงเป็นเสมือนไพ่ในมือที่เราสามารถสร้างให้เป็นอุตสาหกรรมและแข่งขันทางเศรษฐกิจได้ในภาวะโลกเข้าสู่ยุคบานี่ หรือ BANI World"

โรดแมปซอฟต์พาวเวอร์ สู่การปฏิบัติจริง

การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่นโยบายที่เพิ่งเริ่มต้น แต่เป็นกระบวนการที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า ปัจจุบันการดำเนินงานเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ โดยมีความโดดเด่นในรูปแบบการทำงานที่แตกต่างจากอดีต คือ มิติการทำงานใหม่ที่ขับเคลื่อนไปด้วยเอกชน มีหน่วยงานราชการสนับสนุนการทำงานและงบประมาณ ซึ่งสะท้อนถึงการทำงานแบบบูรณาการที่มีภาคเอกชนเป็นผู้นำ ในขณะที่ภาครัฐทำหน้าที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวก

ล่าสุดมีความคืบหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ คือการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ขณะนี้ร่างกฎหมายได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และเตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้ โดยคาดว่าจะสามารถผ่านการพิจารณาของสภาและมีผลบังคับใช้ได้ช่วงต้นปี 2569

ทั้งนี้เมื่อ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ จะมีการจัดตั้ง "สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์" หรือ "ทักก้า" (THACCA) ขึ้นเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ คาดว่าจะจัดตั้งได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2569 โดยทักก้าจะทำหน้าที่เป็น "Super Agency" ในการสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศในด้านต่าง ๆ ในลักษณะเดียวกับหน่วยงานของเกาหลีใต้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศจนประสบความสำเร็จในระดับโลก

 

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษาคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษาคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ

 

ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการแบบบูรณาการ

นพ.สุรพงษ์ อธิบายว่า ในระยะเปลี่ยนผ่าน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จะทำหน้าที่แทนทักก้าไปพลางก่อน จากนั้น CEA จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทักก้า พร้อมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้อง เช่น สถาบันอาหาร และสถาบันสิ่งทอ เพื่อให้การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์เป็นไปอย่างมีเอกภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โครงสร้างการบริหารตามร่าง พ.ร.บ. จะประกอบด้วยบอร์ด 3 ระดับ ได้แก่ บอร์ดคณะกรรมการนโยบายที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน บอร์ดคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และบอร์ดย่อยของแต่ละอุตสาหกรรม โดยการจัดสรรงบประมาณจะผ่านการพิจารณาจากทักก้าเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และกิจกรรมที่วางแผนไว้ในแต่ละปี ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

"การทำงานแบบนี้ต่างจากในอดีตที่ประเทศไทยมีงบประมาณในด้านนี้ที่กระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ 5-6 พันล้านบาทแต่ไม่ได้วางยุทธศาสตร์ร่วมกันว่าการใช้งบประมาณจะทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศอย่างใดบ้าง" นพ.สุรพงษ์ กล่าว

ขยายขอบเขตซอฟต์พาวเวอร์ สู่ 15 อุตสาหกรรม

จากการหารือกับภาคเอกชน ยังมีข้อสรุตรงกันว่า คระกรรมารฯ ได้มีการเพิ่มสาขาซอฟต์พาวเวอร์จาก 11 อุตสาหกรรม เป็น 15 อุตสาหกรรม เพื่อให้การส่งเสริมตรงเป้าหมายมากขึ้น โดย 4 สาขาที่เพิ่มเติม มีดังนี้

  • ละครและซีรีส์ - ขยายขอบเขตจากภาพยนตร์สู่คอนเทนต์ที่มีศักยภาพในการเข้าถึงผู้ชมทั่วโลก
  • ศิลปะการแสดง - เพิ่มมิติของการแสดงสดที่สะท้อนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทย
  • เวลเนส (Wellness) - ต่อยอดจากรากฐานด้านการทำสมาธิ การฝึกสติ (Mindfulness) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมทั่วโลก
  • อุตสาหกรรมโฆษณา - อุตสาหกรรมที่มีเม็ดเงินมหาศาลและไทยมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญจำนวนมาก

 

“หมอเลี๊ยบ” ผ่าทิศทาง “ซอฟต์พาวเวอร์” บนความหวังเครื่องยนต์ศก.ใหม่

 

สร้าง "นักรบซอฟต์พาวเวอร์" 20 ล้านคน ในปี 2570

นอกจากการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแล้ว นพ.สุรพงษ์ ยังระบุถึงความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการอัพสกิลและรีสกิลประชาชนในประเทศครั้งใหญ่ โดยตั้งเป้าสร้าง "นักรบซอฟต์พาวเวอร์" 20 ล้านคนภายในปี 2570

ปัจจุบัน ได้มีการเปิดระบบลงทะเบียนเรียนออนไลน์ในบางสาขาแล้ว เช่น ด้านอาหาร ซึ่งมีผู้เรียนสำเร็จแล้ว 1,300 คน ผู้สนใจสามารถสมัครเรียนผ่านเว็บไซต์ THACCA Academy โดยมีระบบวัดผลและออกใบรับรองที่สามารถนำไปใช้ในการสมัครงานได้

"การอัพสกิลรีสกิลเป็นเรื่องที่เราพูดกันมาตลอด ตอนที่บอกว่าจะทำ 20 ล้านคนในการเพิ่มทักษะ ฝีมือนั้นคนก็บอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อเรามีระบบแพลตฟอร์มที่ทำได้ตรงนี้ จึงถือว่าเป็นโอกาสครั้งใหญ่ที่จะพัฒนาฝีมือแรงงานของคนไทยขึ้นมาได้" นพ.สุรพงษ์ ยอมรับ

 

“หมอเลี๊ยบ” ผ่าทิศทาง “ซอฟต์พาวเวอร์” บนความหวังเครื่องยนต์ศก.ใหม่

 

ยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่มาตรฐานโลก

อย่างไรก็ดีในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่เพียงการส่งเสริมวัฒนธรรมแบบเดิม แต่เป็นการยกระดับให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ นพ.สุรพงษ์ ยกตัวอย่างว่า "งานมหกรรมสงกรานต์ก็ต้องยกระดับให้เป็นงานระดับเดียวกับเทศกาลคาร์นิวัลแห่งบราซิลให้ได้"

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้มีร้านอาหารไทยทั่วโลก 100,000 แห่ง ซึ่งต้องมีการฝึกอบรมเชฟคนไทยและส่งออกไปยังร้านอาหารทั่วโลก เป็นการสร้างทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจและการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในต่างประเทศไปพร้อมกัน

สำหรับภารกิจสำคัญของการผลักดัน “ซอฟต์พาวเวอร์” เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ของไทย กำลังเดินหน้าตามเป้ามายของรัฐบาล ทั้งในด้านกฎหมาย โครงสร้างการบริหารจัดการ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นพ.สุรพงษ์ มั่นใจว่าด้วยการทำงานอย่างบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชน ประเทศไทยจะสามารถใช้ "ซอฟต์พาวเวอร์" เป็น "ไพ่เด็ด" ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสร้างความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน

"การอัพสกิลจะไม่มีการมานั่งพูดกันเรื่องทฤษฎีแล้ว แต่เราต้องจับมือทำเพื่อสร้างคนที่มีทักษะในซอฟต์พาวเวอร์แต่ละสาขาสามารถทำงานได้จริง" นพ.สุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย