นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์เฟสบุ๊ก (กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij) โดยระบุว่า
บิ๊ก 4 โรงกลั่นน้ำมัน ฟันกำไร พุ่งสูงสุด 1,000 %
ระเบิดเศรษฐกิจ ลูกแรก ที่จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่
ผลประกอบการของบริษัทพลังงานไทยออกมาแล้ว ไม่รู้จะใช้คำว่าอะไรดี
มาดูกำไร 4 บริษัทโรงกลั่นหลักกัน
ผมมั่นใจว่าจะมีคำชี้แจงทำนองว่า "ปีที่แล้วกำไรน้อย เอามาเปรียบเทียบไม่ได้เพราะเป็นช่วงโควิด"
ทีมงานผมจึงได้ย้อนกลับไปดูผลประกอบการไตรมาส 2 ย้อนไปสี่ปีจนถึงปี 2561 ปรากฏเอากำไรของ 4 ปีมารวมกันยังไม่ถึงครึ่งของปีนี้เลย
จำได้ไหมครับว่า สองเดือนที่ผ่านมาโรงกลั่นรวมตัวกันพยายามบอกเราว่า ค่าการกลั่น ไม่ได้หมายถึงกำไร??
ผมว่าตัวเลขมันฟ้องชัดเจนมาก !
และที่หลายคนไม่รู้ นี่คือ กำไรหลังจากที่โรงกลั่นในเครือปตท.คาดการณ์ผิด ไปขายนํ้ามันในตลาดล่วงหน้าที่ต่างประเทศไว้ถึงเกือบ 50% ของกำลังผลิตทั้งหมด ทำให้กำไรหายไปรายละเป็นหมื่นล้านบาท (แต่ประชาชนในประเทศก็ยังต้องจ่ายค่าน้ำมันราคาเต็ม!)
ปกติแล้วผู้ประกอบการมีกำไรเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่การมีกำไรที่เพิ่มขึ้นแบบผิดปกติมากถึงขนาดนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากความทุกข์ร้อนของประชาชน และความเดือดร้อนของภาคธุรกิจอื่นๆ ทุกสาขา
‘ค่าการกลั่น’ เป็นสาเหตุสำคัญที่ราคาหน้าปั๊มเราสูงกว่าที่ควรจะเป็น และเป็นสาเหตุสำคัญที่เรายังต้องใช้หนี้กองทุนน้ำมัน ทุกครั้งที่เราเข้าปั้ม และจะต้องใช้หนี้นี้กันไปอีกหลายปี
แต่ปัญหาไม่ได้มีแค่นี้ครับ
ตัวเลขข้างบนคือกำไรโรงกลั่น เรามาดูผลประกอบการของบริษัทค้านํ้ามันกันบ้าง
รายได้ส่วนใหญ่ของทั้งสองบริษัทมาจากการขายนํ้ามันให้พวกเรา ซึ่งก็เป็นประเด็นกังขามาตลอดว่า ‘เวลาราคาน้ำมันจากโรงกลั่นลดลง ทำไมราคาหน้าปั๊มไม่ลดตาม?’
คำตอบอยู่ที่ค่าการตลาด ครับ และที่ผ่านมาหลายเดือนปัญหาอยู่ที่ค่าการตลาดกรณีน้ำมันเบนซิน ไม่ว่าจะเป็น Gasohol 95 หรือ 91 วันนี้ค่าการตลาดอยู่ที่ 3บาทต่อลิตร สูงเกินเกณฑ์ปกติอย่างมาก แต่ก็ไม่เห็นว่ากระทรวงพลังงานเดือดร้อนแทนประชาชนเลย!
และผลก็คือกำไรของ ’ยักษ์ใหญ่’ ที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวนี่เอง เป็นตัวฟ้องชัดเจนว่า รัฐมนตรีและรัฐบาลเลือกที่จะอยู่ข้างใคร
เพราะทั้งหมดนี้เป็น ***กำไรบนความเดือดร้อนของประชาชน***
ผมขอทวงถามท่านรัฐมนตรีว่า มาตรการต่างๆที่ท่านออกมาชี้แจงต่อสังคมเมื่อสองเดือนที่แล้วนั้น วันนี้หายไปไหนหมด??
หรือว่าอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านไปแล้ว วันนี้เลยไม่ต้องสนใจ?
ทั้งหมดนี้มีผลโดยตรงต่อ ‘อัตราเงินเฟ้อ’ และปัญหาของแพง ซึ่งเป็นเหตุให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.25% ทำดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นมา 0.75% ในปัจจุบัน และอาจจะต้องเพิ่มขึ้นอีกหลายครั้ง
ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นก็สร้างความเดือดร้อนให้ผู้กู้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่มีหนี้ท่วมหัวอยู่แล้ว หรือจะเป็นผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME ที่มีอำนาจต่อรองน้อย
ขอทบทวนมาตรการที่เราเคยเสนอไปแล้วนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการปรับสูตรการกำหนด ‘ค่าการกลั่น' หรือจะเป็นการเก็บภาษีลาภลอย
แม้แต่ ‘เงินบริจาค’ เข้ากองทุนน้ำมัน 24,000 ล้านที่ท่านรัฐมนตรีบอกว่า ‘คุยมาแล้ว’ ก็หายไปกับสายลม
นี่คือระเบิดลูกแรกที่ผมพยายามบอกว่าต้องรีบปลดชนวน เพราะมันจะนำไปสู่ระเบิดเศรษฐกิจ ลูกอื่นๆ ที่กำลังจะตามมา
ผมจะมาชี้แจงต่อไป