นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า GPSC ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท ซันนี่ เฮฟวี่ อินดัสตรี้ (ประเทศไทย) จำกัด (SANY) บริษัท ลีดเวย์ เฮฟวี่แมชชีนเนอรี่ จำกัด (LEADWAY) และ บริษัท รูทคลาวด์ เทคโนโลยี (สิงคโปร์) จำกัด (ROOTCLOUD)
เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาสถานีให้บริการสลับแบตเตอรี่แบบไม่ต้องรอชาร์จ (battery swapping services and battery-as-a-service business) สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ (electric commercial vehicles หรือ eCV) พร้อมกับการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายในสถานีสลับแบตเตอรี่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ที่เน้นการใช้พลังงานสะอาด สอดรับกับเป้าหมายการลดปล่อยคาร์บอนในภาคการขนส่งเชิงพาณิชย์
สำหรับการศึกษาโครงการในระยะแรก จะเน้นบริเวณทางหลวงที่มีการเชื่อมต่อพื้นที่การขนส่งสินค้าที่หนาแน่น โดยเมื่อผลการศึกษาเสร็จสิ้น จะมีแผนการขยายการลงทุนเพื่อสร้างสถานีให้บริการสลับแบตเตอรี่แบบไม่ต้องรอชาร์จในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมกันนี้จะร่วมหาเส้นทางและพื้นที่เครือข่ายที่มีศักยภาพเพื่อต่อยอดโครงการต่อไป
นายพอล ทา กรรมการผู้จัดการ SANY กล่าวว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับ GPSC เพื่อสร้างระบบในห่วงโซ่อุตสาหกรรมการขนส่งทั้งหมดของประเทศไทยในรูปแบบใหม่การใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความปลอดภัย
โดย SANY จะให้การสนับสนุนความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสลับแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมการสร้างสถานีบริการนำร่องดิจิทัลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยร่วมกับ GPSC
นายฉกาจ แสนจัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LEADWAY กล่าวว่า พร้อมให้การสนับสนุนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการบำรุงรักษายานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ซึ่งมีอยู่จากทุกสาขาทั่วประเทศ ที่จะร่วมมือขับเคลื่อนการศึกษาความเป็นไปได้ในครั้งนี้
นายโฮ ฮาว เทียน กรรมการผู้จัดการ ROOTCLOUD กล่าวว่าพร้อมสนับสนุนในการพัฒนาเทคโนโลยีแบบผสมผสาน ทั้งการนำเทคโนโลยี IoT และเทคโนโลยี Big-data ที่ทันสมัยเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการสถานีบริการเปลี่ยนแบตเตอรี่แบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยี นำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ร่วมกันของทุกองค์กร
สถานีบริการเปลี่ยนแบตเตอรี่นี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงาน ที่นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพ และลดระยะเวลาของการบนส่ง โดยไม่ใช้ระยะเวลานานในการชาร์จแต่ละครั้งของภาคการขนส่งเชิงพาณิชย์ เพื่อเตรียมพร้อมกับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
ดังนั้นจำเป็นต้องเร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดที่สำคัญ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายในด้านการพัฒนาธุรกิจที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2060