จ่อชงแผนรับมือวิกฤตพลังงานเข้า กพช. เดือน ต.ค. สู้ค่าไฟแพง

20 ก.ย. 2565 | 08:36 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2565 | 15:39 น.

จ่อชงแผนรับมือวิกฤตพลังงานเข้า กพช. ต้นเดือน ต.ค. สู้ค่าไฟแพง ปลัดพลังงานชี้ฤดูหนาวของทางยุโรปที่มีความต้องการใช้เชื้อเพลิงสูง พร้อมโหมกระพืองาน SETA 2022 หนุนไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ คาดผู้เข้าร่วมงาน 1.5 หมื่นคนจาก 70 ประเท

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังร่วมเป็นประธานเปิดงาน “SETA 2022, Solar+Storage Asia 2022, Enlit Asia 2022” ว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างจัดทำแผนรองรับวิกฤตพลังงานช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค.2565) ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวของทางยุโรปที่มีความต้องการใช้เชื้อเพลิงสูง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาพลังงานและค่าไฟเพิ่มขึ้นของประชาชน เพื่อเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) พิจารณาแนวทางบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของประชาชนต้นเดือนต.ค.นี้ 

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาน้ำมันตลาดโลกเริ่มปรับลดลง แต่ราคาก๊าซธรรมชาติ หรือแอลเอ็นจี (LNG) ยังผันผวนอยู่ในระดับสูง ไว้ใจไม่ได้ ขณะที่กำลังจะเข้าสู่หนาว ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงต้องทำมาตรการรองรับหากเกิดกรณีราคาแอลเอ็นจี ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีความผันผวนสูงขึ้นไปกว่านี้ จะมีมาตรการอะไรรองรับ 

โดยเบื้องต้นนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงงาน ได้แจ้งแล้วว่าจะใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงแทนแอลเอ็นจี โดยให้เจรจาจัดหาไฟฟ้าพลังงานน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การซื้อไฟจากสปป.ลาว เป็นต้น

 

นอกจากนี้ จะเสนอ กพช. พิจารณาเลื่อนกำหนดการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง ออกไปก่อน โดยยังให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเป็นการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะปกติ ควบคู่กับการมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึงการเจรจารับซื้อไฟส่วนเกินเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP) ด้วย 

 

งาน SETA 2022, Solar+Storage Asia 2022, Enlit Asia 2022

 

ส่วนความคืบหน้าการออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) พ.ศ. ... และการกู้ยืมเงินของ สกนช. กรอบวงเงิน 1.5 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ 
 

นางวุฒยา หนุนภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า บริษัทร่วมกับบริษัท แคริออน อีเวนท์ จำกัด ประเทศสิงคโปร์ ภาครัฐและเอกชนด้านพลังงานกว่า 200 แห่งทั่วโลก เปิดงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีทางด้านพลังงานและงานประชุมระดับผู้นำแห่งเอเชีย : “SETA 2022, Solar+Storage Asia 2022, Enlit Asia 2022” ภายใต้คอนเซปต์การเติบโตแห่งพลังงานที่ยั่งยืนสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 15,000 คน ทั้งในและต่างประเทศกว่า 70 ประเทศทั่วโลก 

 

เวทีดังกล่าวนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปยืนอยู่แถวหน้าในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในภูมิภาค และมีนโยบายเชิงรุกรวมถึงการกำกับดูแลด้านพลังงานที่ส่งเสริมและก่อให้เกิดแรงดึงดูดการลงทุน

 

โดยข้อมูลของ Climate Watch Data ที่ทำการสำรวจในปี 2565 พบว่าภาพรวมภาคธุรกิจในไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ ภาคพลังงานในสัดส่วนมากที่สุดถึง 61.11% รองลงมา คือ ภาคอุตสาหกรรม 16.67% ภาคการเกษตร 15.96% และภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน 3.31%