ภาวะเศรษฐกิจถดถอยฉุดราคาน้ำมันดิบผันผวน

23 ก.ย. 2565 | 10:15 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2565 | 17:15 น.

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยฉุดราคาน้ำมันดิบผันผวน สนพ.เผยข้อมูลสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)  เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก พบว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน จากความกังวลเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกเร่งใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด

 

โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน 

 

นอจากนี้การประชุม วันที่ 20 – 21 กันยายน  2565 ยังส่งผลกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันและสินทรัพย์เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีนยังคงกดดันตลาดหลังจีนประกาศขยายมาตรการล็อกดาวน์เมืองสำคัญต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลว่าอุปทานมีแนวโน้มจะตึงตัง หลังรัสเซียประกาศจะหยุดส่งออกก๊าซทั้งหมดไปยังยุโรป หากยุโรปยังคงใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย อีกทั้ง ผู้บริโภคมีแนวโน้มจะใช้น้ำมันในฤดูหนาวแทนก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น
 

สำหรับภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก (วันที่ 5 - 11 กันยายน 2565) ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 92.23 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 84.79 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดจากสัปดาห์ที่แล้ว 5.67 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 5.55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 

 

ทั้งนี้ ตลาดยังคงกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มถดถอยจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกว่า 0.75% ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา 

 

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยฉุดราคาน้ำมันดิบผันผวน

 

ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเช่นเดียวกัน อีกทั้งสภาวะเศรษฐกิจยังได้รับแรงกดดันจากการที่จีนใช้มาตรการล็อกดาวน์เมืองสำคัญเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน

 

ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดภูมิภาคเอเชียนั้น ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 103.08เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 98.22 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 101.02 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.24 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 2.91 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 2.83 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 

เนื่องจากความกังวลต่ออุปสงค์ที่จำกัดจากแรงกดดันของสถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ในภูมิภาคและสภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ท่ามกลางการนำเข้าน้ำมันเบนซินที่สูงขึ้นจากประเทศอินโดนีเซีย โดย International EnterpriseSingapore(IES) ได้รายงานสิงคโปร์ส่งออกน้ำมันเบนซินสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ก.ย. 65 ลดลง 48.9% มาอยู่ที่ 2.45 ล้านบาร์เรล

 

ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 139.83 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 5.50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลของจีนปรับตัวสูงขึ้น

 

อีกทั้งอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากการเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในเมืองใหญ่ ทั้งนี้ IES ได้รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 7 กันยายน 65 เพิ่มขึ้น 0.47 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 8.21 ล้านบาร์เรล

 

ส่วนค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.01 บาทบาทเหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 36.7045 บาทบาทเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ต้นทุนน้ำมันเบนซินลดลง 0.30 บาทต่อลิตร และต้นทุนน้ำมันดีเซลลดลง 1.28 บาทต่อลิตร ส่งผลต่อค่าการตลาดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของน้ำมันกลุ่มเบนซิน และน้ำมันดีเซล อยู่ที่ระดับ 2.00 บาทต่อลิตร 

 

ด้านทั้งนี้ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 11 กันยายน 2565 กองทุนน้ำมันฯ มีสินทรัพย์รวม 13,619 ล้านบาท หนี้สินกองทุนฯ 138,220 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิ -124,601 แบ่งเป็น

 

  • บัญชีน้ำมัน -82,534 ล้านบาท 

 

  • บัญชี LPG  -42,067 ล้านบาท