thansettakij
“GC” ผลิตน้ำมัน SAF รายแรกในประเทศ ดันไทยศูนย์กลางการบินคาร์บอนต่ำอาเซียน

“GC” ผลิตน้ำมัน SAF รายแรกในประเทศ ดันไทยศูนย์กลางการบินคาร์บอนต่ำอาเซียน

15 ม.ค. 2568 | 07:16 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2568 | 07:16 น.

“GC” ผลิตน้ำมัน SAF รายแรกในประเทศ ดันไทยศูนย์กลางการบินคาร์บอนต่ำอาเซียน เดินหน้ายกระดับอุตสาหกรรมพลังงานและเคมีภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมเคมีชีวภาพ รับความต้องการพลังงานทดแทนอุตสาหกรรมการบิน

นายทศพร บุณยพิพัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC  เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการเริ่มผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) เป็นรายแรกของประเทศ โดยเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมพลังงานและเคมีภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมเคมีชีวภาพ

รวมถึงเพื่อรองรับความต้องการพลังงานทดแทนของอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์ไทยที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และให้ความสำคัญกับการนำแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นรูปธรรม 

โดย SAF ของ GC ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISCC CORSIA (International Sustainability and Carbon Certification – Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ยอมรับในอุตสาหกรรมการบินสำหรับการรับรองความยั่งยืน 

และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วไป (อ้างอิงตามมาตรฐานการรับรอง ISCC CORSIA) 

“GC” ผลิตน้ำมัน SAF รายแรกในประเทศ ดันไทยศูนย์กลางการบินคาร์บอนต่ำอาเซียน “GC” ผลิตน้ำมัน SAF รายแรกในประเทศ ดันไทยศูนย์กลางการบินคาร์บอนต่ำอาเซียน

นอกจากนี้ GC ยังได้รับรองมาตรฐาน ISCC Plus (International Sustainability and Carbon Certification Plus) ซึ่งมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบชีวภาพและวัสดุหมุนเวียนใน  การพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน โดย GC ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงอีกกว่า 10 ชนิด เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมสิ่งทอ  

นายทศพร กล่าวอีกว่า ความต้องการของตลาด SAF กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลจากการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมการบินเชิงพาณิชย์และการกำหนดกรอบกฎหมายที่สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  

อย่างไรก็ดี GC ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายและโอกาสนด้วยจุดแข็ง 3 ประการ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการกลั่นน้ำมัน และการบริหารจัดการวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการนำน้ำมันพืชใช้แล้วภายในประเทศมาผลิตเป็น SAF เชิงพาณิชย์

นอกจากนี้ GC ยังได้สร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตรสำคัญในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งจะช่วยให้ GC สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาด SAF ได้อย่างมั่นคง และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์และพลังงานในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในเฟสแรก GC วางแผนผลิต SAF 6 ล้านลิตรต่อปี โดยใช้น้ำมันพืชใช้แล้วเป็นวัตถุดิบหลัก และมีแผนขยายการผลิตเป็น 24 ล้านลิตรต่อปีในอนาคต ด้วยการใช้เทคโนโลยีการปรับปรุงโรงกลั่นที่มีอยู่เดิม ทำให้สามารถประหยัดการลงทุนเมื่อเทียบกับการสร้างโรงงานใหม่ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการขยายขีดความสามารถการผลิตพลังงานชีวภาพเพื่อรองรับการเติบโตที่ยั่งยืน

สำหรับแผนการดำเนินการในระยะต่อไปนั้น จะขยายกำลังการผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ใช้พลังงานทดแทน และการลงทุนในเทคโนโลยีที่ยั่งยืน เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ชีวภาพในอนาคต  ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาว

รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและขยายฐานการตลาด รวมถึงการทำงานร่วมกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพและพลังงานทดแทน เพื่อผลักดันการพัฒนาและขยายตลาดผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน

พัฒนาและส่งเสริมความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน  ตั้งแต่การคัดเลือกแหล่งวัตถุดิบทางชีวภาพที่ยั่งยืนไปจนถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพื่อให้กระบวนการผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ชีวภาพมีความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

ส่งมอบโซลูชันอย่างครบวงจรสำหรับภาคอุตสาหกรรม  โดยมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทาน 

การผลิต SAF เป็นการต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านการกลั่นและเคมีภัณฑ์ชั้นสูง มาสู่นวัตกรรมพลังงานสะอาดสำหรับอุตสาหกรรมการบิน โดยจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรและของเสียในประเทศ และส่งเสริมศักยภาพของไทยในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบินคาร์บอนต่ำของภูมิภาคอาเซียน