ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในการประชุมวิชาการระดับชาติ Engagement Thailand Annual Conference 2022 ที่โรงแรมเรือรัษฏา จังหวัดตรัง ชี้ มหาวิทยาลัยต้องไม่มุ่งการสอนอย่างเดียว แต่ต้องมีปฎิสัมพันธ์(engagement)กับสังคมด้วย
“ทั้งนี้การมีส่วนร่วม ผูกพัน มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือการมีพันธกิจ แปลความหมายได้หลาย ๆ อย่าง เป็นการมีปฏิสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเชิงพื้นที่ เชิงท้องที่ เชิงท้องถิ่น เชิงสังคม เชิงชุมชน ตั้งแต่ชุมชน ตำบล หมู่บ้านเมือง จนถึงมหานคร ก็ได้ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฎ(มทร.)หลายแห่ง มีปฏิสัมพันธ์ความร่วมมือ กับจังหวัด ที่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย หรือจะเป็นระดับภาค ระดับประเทศ รวมทั้งองค์กรธุรกิจเอกชนก็ได้ ”
รมว.อว.กล่าวย้ำว่า การออกไปมีปฏิสัมพันธ์ (engagement) มีประโยชน์มาก อยากจะให้เกิดวิจัยแบบไปห้าง หรือไปสู่ชุมชน หรือไปสู่ธุรกิจ แต่ว่าทำโดยมีการเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์ กับของธุรกิจ กับวิสาหกิจ หรือกับชุมชน ซึ่งมีพลังมากกว่าเยอะ เราต้องไม่เก็บตัวอยู่กันในหอคอยงาช้างอีกต่อไป แต่ต้องพร้อมที่จะออกจากหอคอยงาช้างไปช่วยคนอื่น ไปเรียนรู้จากวิกฤติ ไปเรียนรู้จากปัญหา แล้วก็เอาประสบการณ์กลับเข้ามายังมหาวิทยาลัย สร้างขึ้นมาเป็นความรู้ที่สูงกว่าเดิมอีก
“ช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา อว.เข้าไปมีบทบาทวิจัยและพัฒนาหน้ากากอนามัยป้องกันโควิด-19 ห้องตรวจความดันลบ หรือแม้กระทั่งวัคซีน และขณะนี้ก็ร่วมกับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่วิจัยพัฒนาเนื้อทางเลือก ที่สร้างจากพืช(Plant Base) ตลอดจนแบตเตอรี่สำหรับใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า และเวชภัณฑ์ด้านอายุวัฒนะ รวมทั้งการทำสมาร์ทฟาร์มมิ่ง”
ทางด้านศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสมาคมพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม บรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “บทบาทของสมาคมพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กับแนวทางการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยในการพัฒนาประเทศ ว่า โจทย์ใหญ่ที่สุดคือ กระบวนการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ ในการสร้างคน สร้างความรู้ และสร้างนวัตกรรม ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง รวมทั้งต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อสร้างความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศ
“มหาวิทยาลัยในประเทศที่พัฒนาแล้วในประชาคมโลกในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้พัฒนาวิธีคิด วิธีการร่วมคิด ร่วมทำ ระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานภายนอก ทั้งของรัฐ ของเอกชน ของชุมชน ของท้องถิ่น ในลักษณะที่มีการปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ซึ่งจำเป็นต้องสร้างกระบวนการคิดร่วมกัน ทำร่วมกัน ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และให้ได้ผลลัพธ์ ผลกระทบที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งสมาคมพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม ได้นำมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเข้าร่วมในการกระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2562 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน"
โอกาสเดียวกันนี้ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ความสำเร็จของบพท. ในการบรรลุเป้าหมาย SDGs” โดยกล่าวว่า นับเป็นความสำเร็จของงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน โดยมี บพท.เป็นกลไกสำคัญ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนพื้นที่
บพท.สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ใช้ทุนวิจัยและการจัดการเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่หน่วยให้ทุนที่ให้ทุนแล้วจบลงแค่การตรวจรับรายงานการวิจัย แต่เราจะวัดกันที่รูปธรรมการเปลี่ยนแปลงในผลลัพธ์สุดท้าย เพราะฉะนั้นทุกมหาวิทยาลัยต้องปรับตัว ทุกคณะผู้วิจัยก็ต้องมีการปรับตัว เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายสำคัญคือ การกระจายความเจริญ และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสังคมท้องถิ่น ด้วยความรู้และนวัตกรรม
ประการแรก ต้องมองที่เชิงยุทธศาสตร์ให้เป็น ซึ่งถือว่าสำคัญมากสำหรับนักบริหารจัดการ ตอนนี้ผู้บริหารงานวิจัยเป็นกลไกสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ผู้จัดการโครงการวิจัยธรรมดา แต่เป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง โดยใช้สถาบันวิจัย ใช้งานวิจัย บริการจัดการ หรือการพัฒนามหาวิทยาลัย เป็นเครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลง
ประการที่สอง ต้องออกแบบเชิงกลยุทธ์ ซึ่งการออกแบบเชิงโปรเจคไม่พอแล้ว คิดว่ากลยุทธการขับเคลื่อนที่น่าสนใจ ณ ขณะนี้ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก ขนาดกลาง ถือว่ามีผลกระทบสูงมาก คือ อาจารย์ไม่มีเด็กมาให้สอน เพราะเด็กเรามีน้อย จากการที่อัตราการเกิดน้อยลง เป็นเรื่องของโครงสร้างผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นในสังคมบ้านเรา
“ผมอยากเสนอให้มหาวิทยาลัยทำวิจัยผ่านมืออาชีพ ถามว่านักวิจัยมืออาชีพหมายความว่าอย่างไรโดยหน้าที่หลักของอาจารย์คือสอนเด็กในการสร้างคน ก็เปลี่ยนมาเป็นการใช้งานวิชาการสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสามารถทำได้หมด แต่ต้องปรับโครงสร้าง ผมคิดว่ามันเป็นทางรอด”
ประการที่สามคือ ออกแบบงานเชิงระบบ โดยจะเน้นไปที่เรื่องของผลลัพธ์ คือการสร้างโอกาสและการสร้างผลกระทบที่จะตามมา เพราะฉะนั้นการออกแบบ ต้องให้ความใส่ใจอย่างมากกับการวิเคราะห์ภาคีการมีส่วนร่วมอย่างละเอียด ซึ่งหากทำได้ละเอียดจะทำให้เรากระแทกปัญหาได้ถูกจุด เพราะไม่เช่นนั้น สามัญสำนึกในความเป็นเจ้าของจะไม่เกิด เขาก็จะทำแบบของเขา เราก็ทำแบบของเรา
ประการที่สี่คือ ทำด้วยกลไกความร่วมมือผ่านการเรียนรู้ และ
ประการสุดท้ายคือ เปลี่ยนแปลงจนถึงระบบคิดและพฤติกรรม เป็นระบบคิดการใช้ข้อมูล ระบบคิดการใช้ความรู้ในการทำแผน ระบบคิดในการใช้นวัตกรรม ทำให้เกิดเป็นธุรกิจ
ดร.กิตติ ยังได้กล่าวถึงกระบวนการทำกลยุทธการขับเคลื่อน ในส่วนของบพท.กรณีของคนและครัวเรือนยากจน ที่ข้อมูลที่ชี้ชัดว่ามีคนตกหล่นที่เป็นครัวเรือนยากจนซ้ำซาก ซ้ำซ้อน ซึ่งนอกจากจะไม่หมดไปจากประเทศไทยแล้ว ยังมีโอกาสขยายตัวเพราะพิษเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่า การวิจัยนวัตกรรมไม่ใช่แค่ทำงาน ไม่แค่ทำตัวความรู้ แต่ต้องใช้ความรู้เข้าไปแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนที่สอง เศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเศรษฐกิจฐานรากที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกลุ่มอาชีพในพื้นที่ (Local enterprise) มีกลุ่มรวมตัวจัดตั้งที่รู้จักกันดี อาทิ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน Local SME และโอทอป แต่กลุ่มอาชีพในพื้นที่ที่ไม่ใช่กลุ่มจัดตั้งยังมีอีกเยอะมาก เป็น Local business unit ที่ต้องสร้างกลไกการรวมกลุ่ม เชื่อมโยงให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบระหว่างกัน เพื่อสร้างการกระจายรายได้
เพราะฉะนั้นเราจึงมีนวัตกรรมใหม่ เช่น วัคซีนการเงิน ทำให้เขารู้สภาพคล่องทางการเงินของกลุ่ม สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์กลยุทธ์ทางด้านการเงิน ทำให้กลุ่มอยู่รอดในสภาวะวิกฤติ ซึ่งเปิดไปมีคนสนใจ ตอนนี้ปตท.มาร่วมมือกับเรา มีเงินอุดหนุนให้โครงการ
ส่วนสุดท้ายคือ ชุมชน โดยชุมชนที่เป็นท้องถิ่น ตำบล อำเภอ ชุมชนเหล่านี้ก็คือ การใส่นวัตกรรมพร้อมใช้ แล้วทำให้เขาเกิดการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีด้วยตนเอง เราเรียกแบบนี้ว่านวัตกรชุมชน ซึ่งตอนนี้เราทำกว่า 5,000 คนทั่วประเทศ ใน 500 กว่าตำบล ซึ่งจะสามารถนำความรู้นวัตกรรมไปขยายผลได้
การขับเคลื่อนประการต่อมา คือ การกระจายศูนย์กลางความเจริญและเมืองน่าอยู่ (Macro level) ปัจจุบันเรามีกลไกพัฒนาเมืองน่าอยู่ในรูปของวิสาหกิจพัฒนาเมืองอยู่ 19 เมือง ในการพัฒนาเมืองน่าอยู่ก็นำไปสู่การสร้าง urban development , urban design ,urban solution ในการรับมือ เช่น เมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะสามารถพัฒนาและสร้างอาชีพให้คนตกงานได้ เช่น ใน จ.พะเยาสามารถร่วมกับเทศมนตรีของเมืองพะเยา ทำให้เกิดแพลตฟอร์มเมืองแห่งการเรียนรู้ แล้วนำองค์ความรู้ในพื้นที่ คือนำปราชญ์ชาวบ้าน ความรู้ของชาวบ้าน ของมหาวิทยาลัย มาผสมผสานกันแล้วทำหลักสูตรฝึกทักษะอาชีพ ให้กับคนตกงาน ซึ่งสามารถช่วยเหลือไปแล้วได้กว่า 20,000 คน
ส่วนที่สอง Local Smart government ซึ่ง smart government ต่อไป 10 -20 ปี ขีดความสามารถของผู้นำท้องที่ จะทำให้พื้นที่ที่บริบทคล้าย ๆ กันเจริญหรือไม่เจริญ ในอีก 20 ปีข้างหน้า ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาแบบนี้ได้ กลไกในการสร้างชุมชนให้เติบโตจะไม่เกิด เพราะชุมชนจะมีขีดจำกัด เช่น เรื่องงบประมาณ ฯลฯ
สุดท้ายคือเรื่องของพื้นที่เฉพาะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบหมายให้ไปดูพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดน ซึ่งเป็นการตีความที่ถือว่าปราดเปรื่องมาก คือตีความว่าพื้นที่เศรษฐกิจข้างบ้านเรา เป็นพื้นที่เศรษฐกิจร่วม อย่าคิดว่าเฉพาะของประเทศไทย หรือเฉพาะเพื่อนบ้าน เพราะได้รับประโยชน์ร่วมกัน
“ทั้งหมดนี้คือความสำเร็จในเชิง out put ที่เกิดมาจากเครือข่ายของมหาวิทยาลัย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเราไม่ได้มองจำกัดแค่ความเป็นมหาวิทยาลัย แต่เรามองมหาวิทยาลัยเป็นโครงสร้างการสร้างข้อมูลความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งกำลังผลักดันให้เครือข่ายมหาวิทยาลัยทำแพลตฟอร์มให้ทุกคนมาร่วมมือกัน เช่น เป้าหมายขจัดความยากจนของรัฐบาล เพราะความร่วมมือแบบนี้ทำโดยมหาวิทยาลัย โดยพวกเรา หรือนักวิชาการส่วนเดียวไม่ได้ ต้องชวนคนอื่นมาทำด้วย”