วันนี้ 15 สิงหาคม 2565 รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยเกี่ยวกับการบริหารจัดการทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) หลังปรับโครงสร้างกองทุน ว่า จากเดิมการทุนสนับสนุนวิจัยมีการเปิดกว้างในการพิจารณาทำให้เกิดความทับซ้อนของงานวิจัยและไม่สามารถติดตามประเมินผลวิจัยได้ต่อเนื่องส่งผลให้การต่อยอดสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์เป็นไปได้ยาก ทำให้สกสว.ปรับโครงสร้างววน.ใหม่ โดยจัดตั้งกองทุนเพื่อบริหารจัดการงบประมาณสำหรับวิจัยด้านนี้
ทั้งนี้รูปแบบการจัดการที่เปลี่ยนไปส่งผลให้การสนับสนุนทุนวิจัยสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้น ทุกการวิจัยที่ได้รับทุนมีเป้าหมายในทิศทางเดียวกันที่ชัดเชน การผลักดันให้เกิดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ทำได้เร็วขึ้น เนื่องจากสามารถติดตามประเมินผลงานวิจัยได้ตั้งแต่เริ่มจนกระทั่งผลิตออกมาเป็นชิ้นงานสู่การใช้งานจริง
สำหรับกรณีงานวิจัยที่เห็นผลชัดเจนหลังจากปรับโครงสร้างกองทุนแล้วคือ งานวิจัยด้านการแพทย์ ชุดตรวจ ‘COVITECT-1’ ด้วยวิธี Real-Time RT-PCR ,เครื่องช่วยหายใจอัตราไหลสูง (High Flow Nasal Cannula – HFNC) ,ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสารสกัดกระชายขาว และชุดตรวจ SARS-CoV-2 ด้วยวิธีแลมป์เปลี่ยนสี (RT-LAMP) ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์มากกว่า 300 ล้านบาท และมูลค่าเชิงสังคมที่สร้างผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 5 เท่า ในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
“ในปีที่ผ่านมาการระบาดต่อเนื่องของช่วงโควิด-19 ทำให้งานวิจัยมีความเร่งด่วนเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์วิกฤตประกอบกับการบริหารจัดการกองทุนรูปแบบใหม่ทำให้งานวิจัยสามารถพัฒนามาสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็ว และส่งผลดีต่อสังคมและเศรษฐกิจภาพรวม”
สำหรับการสนับสนุนวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนดังนี้
อีกทั้งปัจจุบันในภาคเอกชนเริ่มให้ความสำคัญในงานวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการจัดการและการแข่งขันทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศถูกขับเคลื่อนด้วยผลการทดลองทดสอบที่มีการรับรองด้วยงานวิจัย ด้วยภาคธุรกิจมีการแข่งขันด้วยการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มศักยภาพในการทำงานเป็นหลัก
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ สกสว.มองว่าการสนับสนุนให้เกิดการนำงานวิจัยไปใช้จริงในภาคเศรษฐกิจไทยนั้น จะต้องได้รับการผลักดันที่สำคัญจากภาครัฐผ่านการออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์ รวมถึงภาคเอกชนรายใหญ่จะต้องให้ความร่วมมือในการมองเห็นความสำคัญของการทำวิจัยเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในภาพรวมและสามารถส่งต่อไปยังผู้ประกอบการรายย่อยได้เช่นกัน
นอกจากนี้ รศ.ดร. ปัทมาวดี กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สกสว.มีเป้าหมายในการพัฒนาการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้หน่วยงานและภาคเอกชนสามารถนำผลการวิจัยไปใช้ในการขับเคลื่อนทุกมิติทั้งสังคมและเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาด ทั้งนี้มองว่าภายใน 5 ปี ประเทศไทยสามารถขึ้นจากอันดับ 44 ของดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) ในปัจจุบันสู่อันดับที่ 35 และคาดว่าอันดับดัชนีความยั่งยืน (SDG Index) สามารถสูงขึ้นอยู่ใน 35 อันดับแรกของโลกได้เช่นกัน
ทั้งนี้ที่ผ่านมา สกสว.ได้ทำข้อตกลงกับองค์กรหรือบริษัทในต่างประเทศเพื่อร่วมกันทำงานวิจัยเช่นกัน โดยปัจจุบันมีความร่วมมือกันในลักษณะพาร์ทเนอร์ชิพทั้งระดับของกองทุนและระดับนักวิจัยกับประมาณ 11 ประเทศ ซึ่งสกสว.ได้ดำเนินการเชื่อมโยงกับหลายกองทุนของหลายประเทศเพื่อให้ความรู้ด้านงานวิจัยมีความครบถ้วนและทันสมัย
สำหรับปีงบประมาณ 2567 กรอบวงเงินวิจัยแบ่งสัดส่วนของงานวิจัยเป้าหมายออกเป็น 3 ด้านหลักคือ 1.ด้านการแพทย์และสุขภาพ การมีงานวิจัยที่ช่วยให้การเลือกซื้อเครื่องมือแพทย์ตอบโจทย์กับความต้องการใช้งานจริง2.ด้านการเกษตรและอาหารที่มีมูลค่าสูง ได้แก่ การนำผลผลิตทางการเกษตรแปรรูปเป็นพลังงานหมุนเวียน และการเกษตรที่ได้ผลผลิตมูลค่าสูงขึ้นในตลาด ด้วยการพัฒนาการเก็บเกี่ยวที่มีคุณภาพ เช่นเดียวกับด้านอาหารมูลค่าสูง จะเป็นกลุ่มวัตถุดิบคุณภาพ หรืออาหารคุณค่าสูง เช่น อาหารโปรตีนสูงที่ใช้ในอนาคต เป็นต้น และ3.เทคโนโลยี นับเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศเนื่องจากระบบเทคโนโลยีจะช่วยให้การทำงานในหลายภาคส่วนเชื่อมต่อกัน
การวางแผนจัดสรรงบงานวิจัยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของประเทศเน้นสอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายความสำเร็จในทิศทางเดียวกัน เพราะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเป็นหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญนำพาประเทศไทยให้มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันงานนกวิจัยไทยเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากภาคเอกชนรายใหญ่ในประเทศหนังมาสนับสนุนงานวิจัยในประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง