นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนที่จะพัฒนาศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน (Farm Outlet) ให้เป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าให้กับเกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าชุมชน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาด้านราคาตกต่ำ หรือผลผลิตล้นตลาด โดยจะนำผู้ประกอบการ Farm Outlet ที่ประสบความสำเร็จ สถาบันการศึกษา และเครือข่าย MOC Biz Club
มาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ หรือดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว ในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน แล้วเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ รูปแบบการทำธุรกิจ และให้นำไปปรับใช้ เพี่อขับเคลื่อน Farm Outlet ให้เติบโต
เพื่อให้เป็นร้านค้าหรือเป็นศูนย์ในการจำหน่ายสินค้าเกษตร เกษตรอินทรีย์ และสินค้าชุมชนในพื้นที่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการบริโภคให้กับคนในพื้นที่ แต่ยังเพิ่มทางเลือกในการซื้อสินค้าไปบริโภคและนำไปเป็นของฝากสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวในพื้นนั้น ๆ ด้วย
ทั้งนี้ กรมฯ ยังจะช่วยประสานให้มีการนำสินค้านอกพื้นที่ มาจำหน่ายใน Farm Outlet เช่น สินค้าจากตลาดต้องชม ที่มีอยู่ประมาณ 239 แห่ง สินค้าจากหมู่บ้านทำมาค้าขาย 35 แห่ง หรือจะนำสินค้าเกษตรจากพื้นที่อื่น ที่มีปัญหาผลผลิตออกสู่ตลาดมาก และราคาตกต่ำ มาช่วยระบาย
เช่น หอมแดง กระเทียม หรืออาจจะเป็นผลไม้ตามฤดูกาลก็ได้ รวมทั้งจะใช้ “อมก๋อย โมเดล” มาใช้ในการเชื่อมโยงการซื้อขาย ระหว่างผู้ประกอบการ Farm Outlet กับเกษตรกร เพื่อนำผลผลิตเข้ามาจำหน่าย ซึ่งทั้งหมดนี้ จะช่วยเพิ่มความหลากหลายของสินค้าที่จำหน่ายใน Farm Outlet
“ต่อไป Farm Outlet ไม่เพียงแต่จำหน่ายสินค้าเกษตร เกษตรอินทรีย์ สินค้าชุมชนในพื้นที่ แต่จะมีสินค้าจากพื้นที่อื่น สินค้าชื่อดังจากที่อื่นมาขายด้วย เช่น กล้วยตาก จากกำแพงเพชร กาแฟแม่กำปอง จากเชียงใหม่ เครื่องเงินชื่อดังจากจังหวัดต่าง ๆ เป็นต้น และจะทำถึงขั้น มีตัวอย่างให้ดู ถ้าสนใจก็สามารถสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ก็ได้ ส่วน Farm Outlet ที่ใหญ่ ๆ และตั้งอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยว ก็จะผลักดันให้เป็นจุดพักนักท่องเที่ยว ที่จะเข้ามาพัก มาชม มาเลือกซื้อสินค้าด้วย” นายวัฒนศักย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม นอกจากการช่วยเหลือช่วยเหลือด้านการตลาด ด้านการปรับโฉมร้านค้า กรมฯ จะช่วยด้านการบริหารจัดการธุรกิจ การบริหารต้นทุน และช่วยเชื่อมโยงสถาบันการเงินให้เข้ามาช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง เพื่อให้ Farm Outlet มีเงินทุนในการขยายธุรกิจ รวมทั้งจะช่วยเชื่อมโยงด้านการตลาด
โดยดึงห้างสรรพสินค้า ผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม รวมถึงผู้ซื้อจากต่างประเทศ มาเจรจาธุรกิจกับ Farm Outlet เพื่อซื้อสินค้าด้วย ซึ่งที่ผ่านมา สินค้าออร์แกนิก ประสบความสำเร็จมาก จัดไปแล้ว 16 ครั้ง ทำยอดขายได้กว่า 200 ล้านบาท
ปัจจุบัน Farm Outlet มีอยู่จำนวน 69 แห่ง ใน 40 จังหวัดทั่วประเทศ แยกเป็นภาคเหนือ 10 แห่ง ใน 7 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 แห่งใน 10 จังหวัด ภาคกลาง 29 แห่งใน 15 จังหวัด และภาคใต้ 13 แห่ง ใน 8 จังหวัด โดยแต่ละแห่งมียอดจำหน่ายเฉลี่ยเดือนละ 50,000-1,500,000 บาท