แนะเกาะติด “7 ปัจจัยต่างประเทศ” ที่จะกระทบค่าเงินบาท-ส่งออกไทยในปี 66

12 ก.ย. 2565 | 08:10 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2565 | 15:31 น.

“กอบศักดิ์” แนะเกาะติด 7 ปัจจัยจากต่างประเทศที่จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทและการส่งออกของไทยในปีหน้า ไล่ไปตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก การแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เชื่อว่าจะขยายวงกว้างมากขึ้น

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวอภิปรายวันนี้ (12 ก.ย.)  เรื่อง วิกฤตเศรษฐกิจและพลังงานโลก ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy  Symposium 2022 เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า  มองการเติบโตของ เศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีหน้า (2566) จะขยายตัวได้ 3-4% จากปี 2565 ที่คาดว่าจะมีการขยายตัวที่อัตราราว 3%

 

ทั้งนี้ ในปี 2566 มีเรื่องที่ต้องติดตามซึ่งเป็น ปัจจัยจากต่างประเทศ 7 เรื่อง ด้วยกัน ได้แก่

  1. ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ที่เดินหน้าต่อเนื่อง ทั้งสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน
  2. การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางต่างๆ
  3. การลดลงของเงินเฟ้อโลก
  4. การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ
  5. การเริ่มของภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย (Global Recessions)
  6. การอ่อนตัวของเศรษฐกิจจีนที่จะชัดเจนขึ้น
  7. การก่อตัวของ Emerging Market Crisis

 

สิ่งที่จะกระทบกับผู้ประกอบการในช่วงต่อไป คือ

  • โอกาสของการส่งออกที่จะน้อยลงจากเดิม
  • ต้นทุนสินค้าที่จะยังผันผวนไปอีกระยะ
  • ค่าเงินโลกจะยังคงผันผวนและค่าเงินบาทที่จะมีแรงกดดันไปอีกระยะ
  • ผู้ประกอบการไทยจะได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนเมื่อวิกฤตจีนลุกลาม
  • วิกฤต Emerging Market จะมีหางเลขกระทบมาไทยช่วงหนึ่งเช่นกัน
  • และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป

 

ในส่วนการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปของ ธปท. นั้น ดร.กอบศักดิ์มองว่า สิ้นปีนี้ (2565) ดอกเบี้ยของไทยน่าจะอยู่ที่ระดับ 1.25% และหลังจากนั้นจะรอดูความชัดเจนของภาพเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศว่าจะเป็นอย่างไร โดยในปี 2566 มองว่า การขึ้นดอกเบี้ยของธปท. จะเป็นไปด้วยความระมัดระวัง และจำกัด โดยอาจจะขึ้นได้เพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น และธปท.จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยช่วงกลางปี 2566 จากภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recessions) ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และจะขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลเงินเฟ้อที่พุ่งสูง

สำหรับทิศทางราคาน้ำมันในระยะถัดไปคาดว่า จะอ่อนตัวลง ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ลุกลามบานปลาย รวมทั้งปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ระหว่างสหรัฐและจีนที่ลุกลามบานปลายขึ้นจากสงครามการค้า

 

"ขณะนี้ โลกเจอวิกฤติซ้อนวิกฤติซ้อนวิกฤติ ตลอดปี 2565 เป็นปีที่มีแต่ความท้าทาย เช่น การปรับตัวของนักลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ปัญหาเงินเฟ้อ ความอ่อนแอของเศรษฐกิจและอสังหาฯจีน แต่สิ่งที่เกินคาดคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ลุกลามบานปลาย และความขัดแย้งสหรัฐและจีนที่ลุกลามบานปลายจากสงครามการค้าที่มีอยู่เดิม ทั้งหมดทำให้ราคาน้ำมันโลกผันผวนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ถือว่าเกินคาด" 

 

นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์ยังมองว่า จากวิกฤตพลังงานที่เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้บานปลายกลายเป็น "วิกฤตอาหารโลก" และ "วิกฤตทหารโลก" ในเรื่องของความมั่นคงเพราะเป็นสงครามที่ยืดเยื้อจาก 2 สัปดาห์นานเป็น 200 วัน กลายเป็นมรสุมเพอร์เฟคสตรอม (Perfect Storm) ซึ่ง วิกฤตเพอร์เฟคสตรอมจะใช้เวลา 2-3 ปี โดย

  • ช่วงแรก คนเป็นหนี้ตายจากการขึ้นดอกเบี้ย
  • ตอนนี้เข้าสู่ ช่วงสอง ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะขึ้นดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อจนถึงกลางปีหน้า
  • ต่อมา ช่วงที่สาม เศรษฐกิจเริ่มถดถอย (recession) จากกลางปีหน้าถึงปลายปีหน้า รวมทั้งปัญหาความผันผวนประเทศตลาดเกิดใหม่
  • ก่อนจะเข้า ช่วงที่สี่ เฟดกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ภาคธุรกิจต้องเตรียมสภาพคล่องเตรียมรับมือ ต้องเตรียมตัวรับมือ 2 ปีจากนี้

 

“ตอนนี้คือวิกฤตซ้อนสาม ปกติของการเกิดวิกฤตจะมีเวลาให้เราหายใจ เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งจะมีเวลาให้ฟื้นกลับมา และ ปี 51 เกิดวิกฤตอีก ซึ่งแย่ช่วงหนึ่งและพักฟื้น แต่ครั้งนี้เกิดวิกฤตประหลาด เกิดโควิด มีปัญหาสภาพคล่องเงินเก็บออม และเกิดวิกฤตอีกรอบในเรื่องพลังงาน ความยากคือบอบช้ำมาก่อนหน้า ภาคธุรกิจสู้มา 2 ปี และรัฐบาลสู้มาเยอะจนเหลือเงินไม่เพียงพอใช้เงินไปมากตอนสู้กับโควิด เตือนว่าต้องใช้เวลา 2-3 ปีเป็นช่วงต้องกัดฟัน เหมือนล่องแก่ง ต้องพยายามคัดท้ายตนเองให้ผ่านไปให้ได้”