การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ “กนอ.” เผยโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) พร้อมเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี เชื่อหากโครงการแล้วเสร็จการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมจะสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ "จีดีพี" (GDP) ต่อปี ประมาณ 50,000 ล้านบาท ชูความเป็นนิคมอุตสาหกรรม 4.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะและเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve)
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง พื้นที่ประมาณ 1,383.76 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่อุตสาหกรรม 621.55 ไร่ พื้นที่พาณิชยกรรม 150.54 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 373.35 ไร่ พื้นที่สีเขียวและกันชน 238.32 ไร่ โดยมีจุดเด่นคือ การเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่ทันสมัย ทั้งด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ระบบการสื่อสาร ระบบการขนส่ง ระบบพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อรองรับ New S-Curve
โดยได้จัดแบ่งเป็นลักษณะกลุ่มอุตสาหกรรม (Cluster) มีระบบรักษาความปลอดภัย และแนวกันชนด้วยพื้นที่สีเขียว และมีไม้ยืนต้นปลูกเป็นแนวรอบใน แต่ละคลัสเตอร์ (Cluster) สร้างความร่มรื่นต่อพื้นที่ มีการนำระบบไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคลงใต้ดิน เพื่อความสวยงามทางด้านทัศนียภาพและความปลอดภัย มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจัดเตรียมพื้นที่สำหรับการประกอบกิจการเชิงพาณิชยกรรม เพื่อเชื่อมโยงวิสาหกิจชุมชนสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของภูมิภาค
“หลังจากที่คณะอนุกรรมการด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน มีมติเห็นชอบการลงทุนโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park ของ กนอ.แล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อให้ความเห็นต่อการลงทุนโครงการฯ และคาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี หรือ “ครม.” พิจารณาอนุมัติได้ภายในเดือนกันยายน 2563 และจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในไตรมาส 1/2564 ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 3 ปี โดยหากการก่อสร้างแล้วเสร็จการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park จะสามารถสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อปี อยู่ที่ 52,934.58 ล้านบาท”
ขณะเดียวกัน จะก่อให้เกิดการจ้างงาน ประมาณ 7,459 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1,342,620,000 บาทต่อปี (คิดฐานเงินเดือนขั้นต่ำเดือนละ15,000 บาท) ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค มีความได้เปรียบในแง่ของการเป็นแหล่งผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นวัตถุดิบ (Raw materials sources ) และอยู่ในเขตส่งเสริมของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี” (EEC) มีสถานีระบบขนส่งมวลชนทางรางเชื่อมต่อหน้าโครงการ สะดวกด้วยระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำ และอากาศ ถือเป็นทำเลที่ตั้งที่ดีเยี่ยม (Prime location) เป็นโครงการที่เน้นลดต้นทุนด้านการใช้พลังงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Smart infrastructure)
นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค เป็นส่วนหนึ่งของ EEC ปัจจุบันประกาศเป็นเขตส่งเสริมเพื่อ S-curve แล้ว มีพื้นที่ประมาณ 1,383.76 ไร่ มูลค่าการลงทุนระยะแรก ประมาณ 2,370.72 ล้านบาท เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation & Logistics) กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ (Medical Device) กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital)
“จากการคาดการณ์แนวโน้มการลงทุนช่วงครึ่งปีหลังที่คาดว่าจะมีการฟื้นตัว หากมีการเปิดน่านฟ้า และการปลดล็อคดาวน์ประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลได้ให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่รองรับการลงทุนใน New S-curve ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ ซึ่งนอกจากรวมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงไว้ในที่เดียวกันแล้ว ยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่มีระบบสาธารณูปโภคเพียบพร้อม ลดการใช้รถยนต์ รวมทั้งอาคารต่างๆ ต้องได้มาตรฐานระดับสากล และก่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินในท้องถิ่น คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆอีกด้วย”