นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 ธันวาคม 2567 เห็นชอบการบริหารจัดการปิโตรเลียมในพื้นที่อ่าวไทย เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอ ประกอบไปด้วย
ครม.อนุมัติให้บริษัท พลังโสภณ จำกัด โอนสิทธิประโยชน์ และพันธะ ที่ถือครองอยู่ในสัดส่วน 11% ในสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 8/2549/76 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G10/48 ให้แก่บริษัท แวลูร่า เอ็นเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด โดยกระทรวงพลังงาน จะออกเป็นสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 8/2549/76 ตามแบบ ชธ/ป3/1 ที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. 2555 ต่อไป
สำหรับพื้นที่นี้อยู่ในระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมตามสัมปทานเดิม 20 ปี ตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. 2558 - 7 ธ.ค.2578 โดยเมื่อวันที่ 9 ก.พ.2558 ได้มีการอนุมัติพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมจำนวน 1 พื้นที่คือแหล่งพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมวาสนาโดยแหล่งผลิตปิโตรเลียมนี้เคยปิดไปครั้งหนึ่งในเดือน พ.ค.2563 เนื่องจากราคาน้ำมันตกต่ำ แต่ล่าสุดผู้รับสัมปทานได้ลงทุนและดำเนินการให้สามารถกลับมาผลิตน้ำมันดิบได้อีกครั้ง เมื่อ 28 เม.ย.2566
ทั้งนี้กระทรวงพลังงานพิจารณาว่าการโอนสิทธิ์ของพลังโสภณ ให้กับแวลูร่า เอ็นเนอร์ยี่ จะช่วยให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินงานในการนำเอาปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ค้นพบแล้วขึ้นมาพัฒนา และรัฐจะมีรายได้จากค่าภาคหลวงเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต
ครม.อนุมัติให้โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ อีพี ไทยแลนด์ โอนสิทธิ ประโยชน์ และพันธะ ที่ถือครองอยู่ในสัดส่วน 33.33% ในสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2549/71 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G12/48 ให้แก่บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และกระทรวงพลังงาน จะออกเป็นสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2549/71 ตามแบบ ชธ/ป3/1 ที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. 2555 ต่อไป
ทั้งนี้เมื่อบริษัท ปตท.สผ. ถือสัมปทานหลังจากการโอนสิทธิ์แล้ว 100% จะทำให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่เพื่อประโยชน์ของประเทศไทยได้มากขึ้น โดยแหล่งสัมปทานบริเวณแหล่งนี้ครอบคลุมบริเวณแหล่งผลิตปิโตรเลียมต้นคูนเหนือ สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ 10 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันและผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวได้ 164 บาร์เรลต่อวัน
สำหรับแหล่งนี้มีอายุสัมปทานเหลืออยู่จนถึงวันที่ 14 มี.ค.2578 โดยการโอนสิทธิ์ในการบริหารพื้นที่สัมปทานนี้จะไม่กระทบกับค่าภาคหลวงและผลประโยชน์ปิโตรเลียมที่ประเทศไทยจะได้รับแต่อย่างใด
ครม.อนุมัติให้ เมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด และเมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์ (อีแอนด์พี) ลิมิเต็ด ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมสำหรับสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2539/50 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข B8/38 ออกไปอีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2568 ถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2578
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน จะได้ออกเป็นสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2539/50 ตามแบบ ชธ/ป3/1 ที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. 2555 เนื่องจากผู้รับสัมปทานและผู้ดำเนินงานสัมปทานรายเดิม จะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 23 ต.ค.2568 โดยการต่ออายุสัมปทานจะทำให้ผู้ผลิตรายเดิมได้สิทธิ์ผลิตปิโตรเลียมต่อไปอีก 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค. 2568 – 23 ต.ค.2578
สำหรับพื้นที่การผลิตแหล่งบัวหลวงมีศักยภาพปิโตรเลียม ได้แก่ พื้นที่ผลิตปิโตรเลียมบัวหลวงจำนวน 379 ตารางกิโลเมตร เริ่มผลิตน้ำมันดิบตั้งแต่ปี 2551 มีปริมาณการผลิตน้ำมันสะสม 46.2 ล้านบาร์เรล มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบ ณ สิ้นปี 14.86 ล้านบาร์เรล ซึ่งเมื่อมีการต่ออายุสัมปทานให้อีก 10 ปี ผู้รับสัมปทานจะดำเนินการเจาะหลุมสำรวจหรือหลุมสำรวจเพื่อหาปิโตรเลียมเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามในการต่อสัมปทานครั้งนี้ รัฐจะได้ผลประโยชน์พิเศษเพิ่มเพิ่มนอกเหนือจากค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม โดยผู้รับสัมปทานได้เสนอข้อผูกพันการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ คิดเป็นมูลค่ารวม 19.2 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 672 ล้านบาท ดังนี้
1.ผู้รับสัมปทานจะดำเนินการเจาะหลุมสำรวจหรือหลุมประเมินผลในชั้นหินฐานในบริเวณที่ไม่มีสิ่งติดตั้ง (Open Water Well) จำนวน 1 หลุม โดยมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 2.5 ล้านดอลลาร์
2.ผู้รับสัมปทานจะศึกษาทางเทคนิคเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมเช่น กระบวนการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กระบวนการเพิ่มปริมาณการผลิตจากแหล่งกักเก็บหรือวิธีการที่ช่วยในการผลิตน้ำมันดับขึ้นมาจากหลุมหลังจากที่ได้มีการผลิตตามธรรมชาติแล้ว เป็นต้น โดยมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 200,000 ดอลลาร์
3.ผู้รับสัมปทานจะดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำจากกระบวนการผลิต ปิโตรเลียม และอาจดำเนินการอื่นร่วมด้วยเพื่อจุดประสงค์ในการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียม ในพื้นที่และนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ได้แก่ การเจาะหลุมสำรวจหรือหลุมประเมินผลจากสิ่งติดตั้งที่มีอยู่ในพื้นที่ที่ยังไม่มีการพิสูจน์ทราบศักยภาพปิโตรเลียมหรือยังไม่มีหลุมผลิต หรือการเพิ่มประสิทธิหรือการเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมจากแผนพัฒนาหลัก โดยมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำรวม 15 ล้านดอลลาร์
4.ผู้รับสัมปทานตกลงให้ผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ ได้แก่ โบนัสการลงนาม ค่าตอบแทน การต่อระยะเวลาผลิต โบนัสการผลิตเมื่อได้รับการต่อระยะเวลาผลิต เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียม ในประเทศไทย รวมเป็นเงินประมาณ 725 ล้านบาท (21.5 ล้านดอลลาร์)
นอกจากนี้ผู้รับสัมปทานยังยินยอมที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงการให้เงินทุนฝึกอบรมทางด้านวิชาการ การรื้อถอนสิ่งดีดตั้งและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม การจัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อเตรียมการสำหรับการรับช่วงต่อความเป็นผู้ดำเนินงาน และการยินยอมให้เข้าพื้นที่สัมปทานเพื่อให้การผลิตเป็นไปอย่างต่อเนื่อง