ยอดใช้เหล็กในประเทศครึ่งปี 65 วูบ 13% เซ่นพิษเศรษฐกิจชะลอตัว

15 ส.ค. 2565 | 10:59 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2565 | 17:59 น.

ยอดใช้เหล็กในประเทศครึ่งปี 65 วูบ 13% เซ่นพิษเศรษฐกิจชะลอตัว การลงทุนก่อสร้างหด แนะรัฐใช้มาตรการตอบโต้เหล็กทุ่มตลาด

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 มีปริมาณความต้องการใช้สินค้าเหล็กสำเร็จรูปทั้งหมด 8.78 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2564 ประมาณ 13% จากภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนก่อสร้างในประเทศที่ชะลอตัว 

 

ทั้งนี้ ส่งผลให้การใช้กำลังการผลิตจริงของอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทยอยู่ที่เพียง 33.3% เท่านั้น ซึ่งถือเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำมากๆ ในขณะผู้ผลิตเหล็กในประเทศไทยต้องเผชิญกับต้นทุนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น 39.97% และราคาวัตถุดิบที่ผู้ผลิตได้สั่งซื้อไปเมื่อช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2565

 

แต่อย่างไรก็ตามผู้ผลิตในประเทศไทยได้ปรับราคาขายสินค้าเหล็กให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดเหล็กโลกซึ่งอ่อนตัวลงแล้ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นต้นมา

“สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่สงบ และสงครามรัสเซีย – ยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไป น่าจะส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กของโลกมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ดังนั้น ประเทศต่างๆ ที่รู้ทันสถานการณ์ได้ออกมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจากการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยการใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ ได้แก่ การตอบโต้การทุ่มตลาด การตอบโต้การอุดหนุน การตอบโต้การหลบเลี่ยง ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็ว”

 

ข้อมูลจากองค์การการค้าโลก หรือ WTO ระบุว่าในปี 2564 มีการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้ากลุ่มเหล็กและโลหะพื้นฐาน สูงมากที่สุดในรอบ 26 ปี จำนวนมากถึง 122 มาตรการ และหากพิจารณาเฉพาะสินค้าเหล็กสำเร็จรูปในปี 2563 มีการพิจารณาเปิดไต่สวนมาตรการถึง 63 กรณี 

 

ยอดใช้เหล็กในประเทศครึ่งปี 65 วูบ 13%

 

ซึ่งหลายกรณีได้มีการเร่งบังคับใช้ทันตั้งแต่ปี 2564 และบางส่วนอยู่ระหว่างการพิจารณาไต่สวน โดยปี 2564 ประเทศไทยก็มีการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การค้าสินค้าเหล็กที่ไม่เป็นธรรมเพียงแค่ 4 รายการสินค้า และในบางรายการสินค้าเหล็ก กระทรวงพาณิชย์ใช้มาตรการเก็บอากรทุ่มตลาด 0% เป็นการชั่วคราว เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ราคาสินค้าเหล็กในตลาดโลกในขณะนั้น 
 

แต่ปัจจุบันราคาสินค้าเหล็กได้ปรับลดลงแล้ว และปรากฎมีการทุ่มตลาดที่ไม่เป็นธรรมจริง ดังนั้น ประเทศไทยควรเร่งไต่สวนกรณีที่ยังค้างอยู่ และเร่งทบทวนเก็บอากรทุ่มตลาดอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันผลกระทบจากสินค้าเหล็กทุ่มตลาดที่ทะลักเข้ามายังประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยอยู่ไม่ไกลจากประเทศจีน และอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตเหล็กใหญ่สุดอันดับ 1 และ 2 ของโลก โดยสองประเทศนี้ผลิตเหล็กออกมาเกือบ 1,200 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 62% ของการผลิตเหล็กทั้งโลก


นายนาวา กล่าวอีกว่า สถานการณ์ราคาตลาดเหล็กโลกได้ปรับลดลง โดยราคาสินค้าเหล็กสำเร็จรูปในภูมิภาคเอเชียปรับลดลง 3.2% - 4.9% ในเดือนมิถุนายน 2565 และลดลงอีก 5.2% - 16.3% ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่ประเทศจีนมีการล็อคดาวน์เมืองต่างๆที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กในประเทศจีนชะลอตัว 

 

โดยครึ่งแรกของปี 2565 ความต้องการใช้เหล็กของประเทศจีน ลดลง 6.9% เหลือ 501 ล้านตัน และมีการส่งออกสินค้าเหล็ก รวม 34.25 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกในราคาต่ำมาก เพราะกำลังซื้อภายในประเทศจีนลดลง นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ประเทศรัสเซียมีการส่งออกสินค้าเหล็กสำเร็จรูปราคาต่ำเข้ามายังภูมิภาคเอเชียเนื่องจากถูกคว่ำบาตรไม่สามารถส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรปได้


นายนาวา กล่าวอีกว่า สนับสนุนรัฐบาลที่ได้ริเริ่มและดำเนินนโยบายให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ต้องใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศเป็นลำดับแรกก่อน โดยมีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานกลางรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand) ซึ่งมีผลดียิ่งต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของประเทศไทยที่มีการจ้างงานจำนวนมาก และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศไทย 

 

นอกจากนั้น ขอเสนอให้มีการร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กไทยอย่างยั่งยืน ตามแผนซึ่งกลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย และกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำเสนอ โดยมีสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยเป็นที่ปรึกษา 

 

โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กที่มีกำลังการผลิตเกินความจำเป็น (Overcapacity) และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำ (Underutilization) ตลอดจนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหล็กไทยในทิศทางที่ยั่งยืนในแนวทางต่างๆ ได้แก่ การเพิ่มสัดส่วนของการผลิตเหล็กเกรดคุณภาพสูงในการผลิตเหล็กทั้งหมดของประเทศไทย เพื่อรองรับอุตสาหกรรมทันสมัยต่อเนื่อง การส่งเสริมเทคโนโลยี Low-Carbon เพื่อประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น