นางสาวปะราลี เตชะจงจินตนา ทนายความผู้รับมอบอำนาจบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวว่า หลังจากศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ อ.572/2565ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่าง รัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับพวกรวม 2 คน ที่มีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชนในการประมูลรอบแรก เป็นเหตุให้บีทีเอส ซึ่งเป็นผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนได้รับความเดือดร้อนเสียหายนั้น เบื้องต้นการพิจารณาคดีนี้เป็นการนัดพิจารณาครั้งแรกตามกระบวนการ ซึ่งยังไม่ได้มีการตัดสิน โดยตุลาการจะกำหนดการพิจารณาคดีฯและแจ้งให้ทราบอีกครั้ง คาดว่าตุลาการจะใช้เวลาในการพิจารณาคดีสักระยะหนึ่ง
"นอกจากนี้ศาลได้สอบถามทั้ง 2 ฝ่ายเพิ่มเติม ถึงการแถลงด้วยวาจาหรือไม่ โดยBTSCได้มีการยื่นคำแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรแทน ส่วนรฟม.ไม่ได้การยื่นคำแถลง ถึงแม้ว่าปัจจุบันการประกวดราคาครั้งที่ 1 จะยกเลิกไปแล้ว และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะมีการเปิดประมูลรอบใหม่แล้ว แต่ BTSC ยืนยันว่าต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ให้กระบวนการศาลเป็นผู้พิจารณาในประเด็นต่างๆ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เนื่องจากทาง BTSC ติดใจในประเด็นที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้แก้ไขหลักเกณฑ์เป็นเรื่องที่กระทำโดยชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย"
นางสาวปะราลี กล่าวต่อว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งทางศาลปกครองกลางตัดสินเป็นไปไม่มิชอบด้วยกฎหมาย และทาง BTSC ได้ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายเป็นวงเงิน 500,000 บาท โดยขณะนี้เป็นกระบวนการศาลที่มีการนัดพิจารณาคดี ซึ่งหากมีการตัดสินคดีก็จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอจะชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับคดีในศาลปกครองที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจำนวน 3 คดี ประกอบด้วย 1.คดีเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะในการประมูลครั้งที่ 1 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอนัดตัดสินคดี
2.คดียกเลิกการประกวดราคา และคำสั่งของผู้ว่าการ รฟม.ที่มีคำสั่งและออกประกาศยกเลิกการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ปัจจุบันศาลปกครองกลางได้พิพากษาเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2565 ชี้ว่าการยกเลิกประมูลผลจากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์คัดเลือกในครั้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และปัจจุบัน รฟม.อยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด
และ 3.คดีการกำหนดหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 ชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นคดีล่าสุดที่ศาลปกครองกลางรับไว้พิจารณา ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนพิจารณา ยังไม่มีกำหนดนัดไต่สวนเพิ่มเติม
ทั้งนี้อีก 1 คดี คือ คดียกเลิกการประมูล ซึ่งศาลนัด 27 ก.ย.65 ชี้ว่ามีมูลความผิดหรือไม่ ซึ่งอยู่ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง