ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ห้องประชุมสุวัจน์ ลิปตพัลลภ 2 ชั้น 3 อาคารยุพราชเบญจมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุม รับฟังการชี้แจงขั้นตอน หลักเกณฑ์ วิธีดำเนินการเวนคืนที่ดิน ตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฏ) กำหนดการเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา โดยมีผู้แทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และประชาชนเข้าร่วมรับฟังครั้งนี้กว่า 350 คน
โดยมีนายกำพล บุญชม รองวิศวกรใหญ่ โครงการพิเศษและก่อสร้างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมคณะทำงาน และบริษัทที่ปรึกษาเข้าร่วมชี้แจง ทำความเข้าใจกระบวนการ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น และซักถามข้อสงสัย
นายกำพล บุญชม รองวิศวกรใหญ่ โครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวชี้แจงว่า ทางการรถไฟได้ประกาศเวนคืนที่ดินครอบคลุมเป็นบริเวณกว้างไว้ก่อน หรือประมาณหน้ากว้าง 400 เมตรจากบริเวณทางรถไฟ แต่ไม่ใช่เป็นพื้นที่เวนคืนทั้งหมด
โดยจากแผนที่นั้นการประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน จะเป็นแนวเส้นสีน้ำเงิน ซึ่งดูเหมือนกว้างมากและครอบพื้นที่ในเขตเมืองโคราชจำนวนมาก แต่แนวเขตที่ต้องเวนคืนจริง ๆ คือ เส้นสีเขียว ซึ่งมีบ้านเรือนประชาชนเพียงไม่กี่หลัง ประมาณ 3-4 หลัง บริเวณด้านหลังร้าน VT แหนมเนือง ถ.มุขมนตรี เท่านั้น ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นที่ดินเปล่า หากกระทบก็น้อยมาก ๆ
และทางการรถไฟฯยืนยันว่า จะให้กระทบกับพี่น้อยประชาชนน้อยที่สุด ถ้าไม่จำเป็นเราก็ไม่อยากใช้งบประมาณให้มาก ประกอบกับคำนึงถึงวิถีชีวิตของประชาชน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มานานและมีความคุ้นเคย แต่หากจำเป็นต้องเวนคืน ก็จะต้องพิจารณาการชดเชยให้อย่างคุ้มค่าที่สุดตามที่กฎหมายกำหนดให้
“แนวเขตเดิมที่แนบท้าย พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินเป็นเพียงแค่แนวสำรวจ สำหรับแนวเขตที่ต้องเวนคืนที่ดินจริงต้องคำนึงถึงแบบการก่อสร้าง ประชาชนที่ถูกเวนคืนให้รอรับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ เพื่อนัดหมายในการลงพื้นที่สำรวจ ขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือ และให้ข้อมูลที่แท้จริงครบถ้วนกับเจ้าหน้าที่ อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพที่แอบอ้างเรียกรับเงิน หลอกลวงว่าสามารถเพิ่มราคาประเมินได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด” นายกำพล กล่าวย้ำ
ด้านนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า จากการชี้แจงของทางการรถไฟฯในครั้งนี้ คาดประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจ และลดความวิตกกังวลได้พอสมควร เนื่องจากไม่ได้ถูกเวนคืนที่ดินทั้งหมดตามที่เข้าใจมาตลอด ขอบเขต พ.ร.ฏ.กำหนด 2 เส้น คือแนวสีน้ำเงิน เป็นพื้นที่ต้องเข้าสำรวจส่วนสีเขียวคือพื้นที่ที่ถูกเวนคืน
โดยภายใน 60 วันจะมีเจ้าหน้าที่ลงมาสำรวจ พร้อมปักหมุดขาวแดงให้เห็นได้ชัดเจน จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการประเมินสภาพตามความเป็นจริง เพื่อจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม รฟท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรหาแนวทางทำความเข้าใจประชาชน โดยเฉพาะนักธุรกิจ นักลงทุน เพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิดและสามารถลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้