นอกจากที่ดินทำเลทองใจกลางกรุงเทพมหานคร ที่ บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ให้ความสำคัญพัฒนาเป็นมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ ทยอยเปิดให้ยลโฉมในอีกไม่นานนี้แล้ว ยังมีอีกหลายทำเลที่ มีเป้าหมายตาม แผน “Retail-Led Mixed-Use Development”ใน 5ปี( 2565-2569) มูลค่า 1.2แสนล้านบาท พัฒนาทุกธุรกิจรวมกันครอบคลุมกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศ
หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายและให้สอดรับกับการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ล่าสุด CPN ปลุกที่ดิน65ไร่ทำเลศักยภาพ ติดถนนมิตรภาพเส้นเลือดใหญ่ประตูสู่อีสาน พลิกโฉมเป็นโครงการมิกซ์ยูส มูลค่าไม่ต่ำกว่10,000 ล้านบาท หลอมรวมไว้ในที่เดียวแบบไร้รอยต่อ
โดยใช้ยุทธศาสตร์ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเป็นตัวนำ จุดประกายเป็นศูนย์กลางธุรกิจใหม่หรือ นิวซีบีดี ของจังหวัดนครราชสีมา ฉายภาพการเป็นผู้นำธุรกิจรูปแบบดังกล่าวก่อนขยายตัวสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ ส่งผลให้ราคาที่ดินขยับไปรอติดถนนมิตรภาพไม่ต่ำกว่า 20-40ล้านบาท/ไร่ขึ้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 13 กันยายน 2565 CPN มีกำหนดเปิดให้บริการโรงแรม เซ็นทารา โคราช อย่างเป็นทางการ โรงแรมหรูขนาด 217 ห้อง ได้มาตรฐานการบริการและการพัฒนาระดับนานาชาติ สนับสนุนยุทธศาสตร์โคราชเเมืองไมซ์ รองรับการท่องเที่ยว กระตุ้นการเดินทางและเศรษฐกิจของชาวโคราช โรงแรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการมิกซ์ยูส “เซ็นทรัล โคราช-มหานครแห่งอีสาน” รวมกว่า 382,000 ตารางเมตร
ที่ ดำเนินการภายใต้แนวคิด Retail-Led คือนอกจากศูนย์การค้าแล้ว จะพัฒนาพื้นที่โดยรอบเชื่อมโยงกัน อาทิ โรงแรม ที่พักอาศัย บ้าน คอนโดมิเนียม ศูนย์แสดงสินค้าการประชุม อาคารสำนักงาน โคเวิร์กกิ้งสเปซ ตามแต่ศักยภาพของพื้นที่ ขณะพื้นที่โดยรอบแวดล้อมไปด้วยสถานศึกษาชั้นนำมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมากุล เอบีเอ็มเซอรวิสเรสซิเดนท์โกบอลส์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเป็นต้น
นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาด บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) สะท้อนภาพ การพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสเซ็นทรัล โคราช ว่าเป็นความตั้งใจในการทำตาม ความมุ่งมั่น ของเซ็นทรัลพัฒนา มาตั้งแต่เปิดศูนย์การค้าในปี 2560 เพื่อมอบความเป็นที่สุดให้กับจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งการเข้ามาพัฒนาธุรกิจของเรา จะช่วยส่งเสริมศักยภาพของจังหวัดในทุก ด้าน
ยกระดับทั้งเศรษฐกิจและการเดินทางท่องเที่ยวทั้งระบบ ผลักดันให้โคราชเป็น ประตู ภาคอีสานที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยกลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ 1. Develop New District: สร้างเมืองให้เป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิต เขตเศรษฐกิจใหม่ (New CBD of Korat) และการเดินทางท่องเที่ยว ให้เป็นเมืองแห่งการพักผ่อน ทำงาน หรือพักระยะยาว สนับสนุนยุทธศาตร์จังหวัดสู่เมืองไมซ์ของอีสาน จัดอีเวนท์ที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องทั้งปี รองรับเครือข่ายคมนาคมในอนาคต
2. Strong Synergy & Ecosystem เชื่อมโยงธุรกิจภายในมิกซ์ยูส ทั้งศูนย์การค้า-คอนโดมิเนียม-โรงแรม ให้เป็นที่พักอยู่ติดศูนย์การค้า สะดวกสบาย โดยใช้บิ๊กดาต้าของกลุ่มมาออกแบบ ให้เกิดความเชื่อมโยงในการใช้ชีวิตให้ลูกค้า3. Community at Heart: ความภูมิใจของชาวโคราช เป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตและดูแลชุมชน
พร้อมสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของจังหวัด เป็นแลนด์มาร์คของงานเทศกาลตลอดทั้งปี และดูแลสิ่งแวดล้อมจากอาคารประหยัดพลังงานที่ได้รางวัล ASEAN Energy Awards 2020เนื่องจากโคราชเป็นเมือง ประตูของอีสาน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด เป็นอันดับ 1 ของภาตตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยโครงการเซ็นทรัล โคราช มิกซ์ยูส เข้ามาเติมความเป็นเมือง (Urbanization) ให้กับโคราชที่มีการเติบโตของเมืองสูง รองรับแผนการพัฒนา โครงสร้างฟื้นฐาน ในอนาคตของภาครัฐ และยังเป็นจุดศูนย์รวมของกิจกรรมต่างๆ
สำหรับแผนการพัฒนาในอนาคต มีการศึกษาโอกาสตามศักยภาพของจังหวัด อย่างเช่นคอนโดมิเนียมที่อาจจะพัฒนาโครงการต่อไปในอนาคตตามความเหมาะสม โดยเซ็นทรัลพัฒนา มุ่งมั่นเป็นผู้นำอสังหาริมทรัพย์ที่ดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
โครงการ ของเซ็นทรัลพัฒนาจะมีมากกว่า 1 องค์ประกอบอยู่แล้ว อาทิ เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว แจ้งวัฒนะ ปิ่นเกล้า บางนา ระยอง พัทยา โดยภายในปีนี้จะมีโครงการมิกซ์ยูสที่จะเติมเต็มด้วยธุรกิจใหม่ นอกเหนือจากศูนย์การค้าเซ็นทรัลที่เปิดให้บริการอยู่แล้ว อาทิ อุบลราชธานี และในอนาคตที่อยุธยา, ศรีราชา และจันทบุรี
"เราเดินหน้าตามแผน “Retail-Led Mixed-Use Development” พัฒนาธุรกิจหลักคือ ศูนย์การค้า, ที่อยู่อาศัย, อาคารสำนักงาน และโรงแรม ลงทุน 5 ปี (ปี 2565-2569) มูลค่า 120,000 ล้านบาท พัฒนาทุกธุรกิจรวมกันครอบคลุมกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศ"
สำหรับโครงการที่อยู่อาศัยที่เพิ่งเปิดตัวไป ได้แก่ คอนโดมิเนียม 4 โครงการภายใต้แบรนด์ ESCENT ในจังหวัด สุราษฎร์ธานี, สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา และตรัง ซึ่งทุกคอนโดมิเนียม จะอยู่ติดกับศูนย์การค้าเซ็นทรัล หรือโรบินสันซึ่งอยู่ในเครือกลุ่มเซ็นทรัล และมีโครงการบ้านเซ็นทรัล 2 โครงการคือ นินญา ราชพฤกษ์ และนิรติ เชียงใหม่ ซึ่งโลเคชั่นใกล้กับศูนย์การค้าเช่นกัน
ด้านแนวโน้มตลาดอสังหาฯในระยะต่อไปนั้น ดร.ณัฐกิตติ์ กล่าวว่า ในส่วนของเซ็นทรัลพัฒนา แนวโน้มเป็นบวก โดยล่าสุดในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ผลประกอบการของเซ็นทรัลพัฒนาเติบโต จากที่ทุกธุรกิจฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ศูนย์อาหาร และที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นอานิสงค์มาจากเศรษฐกิจของประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้น
ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ จากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 การเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากภาครัฐ สำหรับภาพรวมถึงทราฟฟิกของศูนย์การค้าส่วนใหญ่กลับมาเกือบจะ 100%
เชื่อว่าทิศทางในครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจประเทศจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเซ็นทรัลพัฒนามีการจัดแคมเปญ ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งภาครัฐและเอกชนในภาคการท่องเที่ยว