นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (27 มีนาคม 2568) ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. มีมติเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)ฉบับแก้ไขตามหลักการของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก วงเงิน 2.24 แสนล้านบาท เบื้องต้นตามขั้นตอนจะเสนอต่อคณะกรรมการกำกับสัญญาที่มีทั้ง 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย รฟท. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด (ซีพี)
ทั้งนี้หลังจากนั้นจะส่งต่ออัยการสูงสุดตรวจสอบร่างสัญญา ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน และเสนอต่อสกพอ.เห็นชอบก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างสัญญาฯต่อไป คาดว่าจะลงนามแก้ไขสัญญาได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้
นายอนันต์ กล่าวต่อว่า หลังจากลงนามแก้ไขสัญญาร่วมกับเอกชนแล้ว เบื้องต้นรฟท.ได้เร่งรัดให้เอกชนเข้าพื้นที่การก่อสร้างบริเวณฝั่งสนามบินอู่ตะเภาที่มีรันเวย์และพื้นที่ทับซ้อนโครงสร้างทางร่วมสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ในโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน ระยะที่ 1 โดยรฟท.ได้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดออกแบบรายละเอียดโครงการฯก่อนดำเนินการก่อสร้างต่อไป
สำหรับแพ็กเกจด้านการเงินของบจ.เอเชียเอราวัน (ซีพี) ลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่เอกชนต้องใช้เป็นหลักค้ำประกันในโครงการนี้ ตามสัญญาเดิม ประกอบด้วย 1.หลักประกันสัญญา วงเงิน 4,500 ล้านบาท ตลอดสัญญา 50 ปี 2.หนังสือค้ำประกัน ผู้ถือหุ้น วงเงิน 149,650 ล้านบาท ตลอดสัญญา 50 ปี เพื่อเป็นการรับประกันว่าเอกชนจะเปิดให้บริการภายใน 5 ปี
ขณะที่สัญญาใหม่เอกชนต้องจัดหาวงเงินค้ำประกันเพิ่มเติม วงเงินรวม 152,164 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.หนังสือค้ำประกันที่รัฐจ่ายเงินร่วมลงทุนค่าก่อสร้าง วงเงิน 125,932 ล้านบาท 2.หนังสือค้ำประกันค่างานระบบ วงเงิน 14,813 ล้านบาท 3.หนังสือค้ำประกันคุณภาพเดินรถ (Level of Service) วงเงิน 748 ล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี
4.หนังสือค้ำประกัน ค่ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) จำนวน 10,671 ล้านบาท โดยแบ่งชำระเป็น 7 งวด งวดละ 1 ปี เป็นจำนวนงวดละ 1,524,441 บาท และชำระงวดแรก ณ วันลงนามสัญญา ซึ่งเอกชนต้องดำเนินการวางหลักประกันทางการเงินหรือแบงก์การันตีภายใน 270 วัน นับจากวันที่ลงนามสัญญา
อย่างไรก็ดีการแก้ไขสัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินนั้น มีหลักประกันว่าจะได้ค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ครบถ้วนและเอกชนรับภาระดอกเบี้ยได้ทั้งหมด ซึ่งจะช่วยลดภาระการขาดทุนการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ของรฟท.เฉลี่ย 309 ล้านบาทต่อปี หากมีการยุติสัญญา รฟท.สามารถยึดหลักประกันทั้งค่าสิทธิ์แอร์พอร์ต เรล ลิงก์และภาระดอกเบี้ยของรฟท.
สำหรับการอนุมัติร่างแก้ไขสัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก เมื่อเดือนมกราคม 2568 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มอบหมายให้รฟท.ดำเนินการแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตามหลักการ เพื่อพิจารณาใน 5 ประเด็น ดังนี้
1.วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิม เมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงฯ รัฐจะแบ่งจ่ายเป็นจำนวน 149,650 ล้านบาท ปรับเป็น จ่ายเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตรวจรับวงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท โดยเอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม รวมเป็นจำนวน 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงฯ ได้ภายใน 5 ปี ทั้งนี้กรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของภาครัฐ (รฟท.) ทันทีตามงวดของการจ่ายเงิน
2.กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่า ๆ กัน โดยต้องชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา ในการนี้เอกชนจะต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิ ARL รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท. ต้องรับภาระ
3.การกำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการฯ ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ และเป็นผลให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท. มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกันต่อไป
4.การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท. สามารถออก NTP ได้ทันทีเมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมดนี้
5.การป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น