ชำแหละ “ITD-CREC No.10” คว้างานรัฐ 38 บิ๊กโปรเจ็กต์ 1.6 แสนล้าน

03 เม.ย. 2568 | 22:00 น.

ทะลวง “ITD-CREC No.10” เทกระจาด 1.6 แสนล้านบาท คว้างานรัฐสารพัดบิ๊กโปรเจ็กต์ ดีลราคาประมูลต่ำสุด-ลักลอบวัสดุจีนไม่ได้มาตรฐาน จุดชนวนตึกสตง.ถล่ม เหตุแผ่นดินไหว

KEY

POINTS

  • ทะลวง “ITD-CREC No.10” เทกระจาด 1.6 แสนล้านบาท คว้างานรัฐสารพัดบิ๊กโปรเจ็กต์
  • ดีลราคาประมูลต่ำสุด-ลักลอบวัสดุจีนไม่ได้มาตรฐาน จุดชนวนตึกสตง.ถล่ม เหตุแผ่นดินไหว

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมาส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมาสร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชนโดยเฉพาะพื้นที่แถบภาคเหนือ รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ได้รับแรงสั่นสะเทือนไม่น้อย

ทั้งนึ้ส่งผลให้อาคารสำนักงานแห่งใหม่ของ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ย่านจตุจักร ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างเกิดวิบัติพังถล่ม เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

มากไปกว่านั้นยังสร้างความเสียหาย ทั้งเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ต่อประเทศเป็นอย่างมาก

ท่ามกลางกระแสหลายคนตั้งคำถามว่าตึกสตง.ถล่ม ผู้รับเหมาและบริษัทก่อสร้างที่เกี่ยวข้องจะแก้ปัญหาชดเชยหรือเยียวยาต่อเหตุการณ์เหล่านี้อย่างไร

จากการตรวจสอบ พบว่า อาคารสตง.ถล่ม มีกิจการร่วมค้ากิจการร่วมค้า “ITD-CREC” ประกอบด้วยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ และบริษัท China Railway No.10 Engineering Group เป็นผู้รับเหมาหลักของโครงการฯโดยเสนอราคารายต่ำสุด วงเงิน 2,136 ล้านบาท

สำหรับอาคารสตง. มีลักษณะเป็นตึกสูง 33 ชั้น สร้างบนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ 3 งาน บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กทม. ออกแบบเมื่อปี 2561 โดยบริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด วงเงิน 73 ล้านบาท

ทั้งนี้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด มหาชน หรือ ITD ถือเป็นบริษัทก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้างครบวงจรอันดับต้นในไทยที่มีความชำนาญในงานก่อสร้างทุกประเภท โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เทคนิคขั้นสูง

เมื่อปี 2567 ที่ผ่านมาพบว่า ITD ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงปัญหาสภาพคล่องทางการเงินในบริษัท เนื่องจากรายรับจากโครงการยังน้อยกว่าค่าใช้จ่าย

ทำให้บริษัทฯจึงต้องขอกู้ยืมเงินจากธนาคารเพิ่มเติม เพื่อนำเงินมาบริหารกิจการ ส่งผลกระทบที่เกิดขึ้นมีแรงงานบางส่วนลาออก บางส่วนหยุดงาน

“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปัจจุบัน ITD มีโครงการภาครัฐที่อยู่ในมือของบริษัท จำนวน 16 โครงการ มูลค่า 155,739 ล้านบาท ประกอบด้วย

โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว วงเงิน 26,560 ล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา – คลองขนานจิตร วงเงิน 7,560 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ วงเงิน 9,290 ล้านบาท โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 5,807 ล้านบาท

โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธา ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า วงเงิน 9,348 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน - บ้านแพ้วช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว ตอน 7 +วงเงิน 1,868 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ตอน 3 จังหวัดสมุทรสาคร วงเงิน 2,491 ล้านบาท

โครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ สัญญาที่ 3 งานโยธา วงเงิน 7,359 ล้านบาท โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) วงเงิน 18,699 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (สายสีม่วงใต้) ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) สัญญาที่ 3 ช่วงผ่านฟ้า-สะพานพุทธ วงเงิน 15,109 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (สายสีม่วงใต้) ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่ง และสถานียกระดับ ช่วงดาวคะนอง - ครุใน อาคารจอดรถไฟฟ้า (Stabling Yard) และอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) วงเงิน 13,094 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (สายสีม่วงใต้) ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) สัญญาที่6 งานระบบรางช่วงเตาปูน-ครุใน วงเงิน 3,589 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 2 ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา วงเงิน 1,059 ล้านบาท

งานก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 และทางขับในโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงิน 13,200 ล้านบาท

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) งานขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน สัญญาที่ 3 ช่วงหัวหมาก – คลองบ้านม้า วงเงิน 18,570 ล้านบาท และ 16.โครงการก่อสร้างอาคารสตง.วงเงิน 2,136 ล้านบาท ในนามกิจการร่วมค้า ITD- CREC

ฟากบริษัท China Railway No.10 Engineering Group เป็นบริษัทย่อยของรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ด้านการก่อสร้างของรัฐบาลจีนที่ใหญ่ระดับโลกอย่าง “ไชน่า เรลเวย์” หรือ China Railway Engineering Corporation (CREC) ที่ติดอันดับ Fortune Global 500 มายาวนาน

โดยบริษัทในไทยมีภารกิจหลักในการรับเหมาก่อสร้างงานโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางรถไฟ ถนน อาคาร และรถไฟใต้ดิน

นอกจากนี้จากการตรวจสอบพบว่าทุกครั้งที่ภาครัฐมีการเปิดประมูลงาน CREC No.10 จะมุ่งเน้นประมูลงานก่อสร้างขนาดใหญ่ในไทยหลายโครงการในเวลาไล่เลี่ยกัน

อีกทั้งมักชอบดีลงานกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนหนาเพื่อเข้าร่วมเป็นกิจการร่วมค้าในการยื่นซองประมูลแทน โดยยื่นข้อเสนอต่อรัฐในราคาที่ต่ำมากเพื่อเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเองทั้งหมด

ขณะเดียวกันยังพบว่ามีการควบคุมการจัดซื้อวัสดุบริษัทขายวัสดุก่อสร้าง ซึ่งมีเงื่อนไขต้องจ่ายใต้โต๊ะ หากร้านไหนไม่ยอมจ่ายหมดสิทธิ์รับงานโครงการขนาดใหญ่ ตลอดจนลักลอบนำเข้าวัสดุจากจีนที่ไม่ได้มาตรฐานและมีราคาสูงเกินจริงผู้รับเหมาในไทยมีพนักงานจีนที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานควบคุมงานทุกไซต์งานก่อสร้าง

ถึงแม้ว่าจะมีคนเห็นปัญหาและไม่เห็นด้วย แต่ไม่สามารถคัดค้านได้เพราะไม่มีอำนาจ ซึ่งคนไทยบางส่วนมีการหาผลประโยชน์จากระบบนี้เช่นกัน

สำหรับ CREC No.10 มีโครงการภาครัฐที่อยู่ในมือของบริษัทและในนามกิจการร่วมค้ากับเอกชนรายอื่นๆ จำนวน 22 โครงการ มูลค่า 7,298 ล้านบาท เช่น การเคหะแห่งชาติ วงเงิน 343 ล้านบาท มหาวิทยาลัยมหิดล วงเงิน 146 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย วงเงิน 540 ล้านบาท

การกีฬาแห่งประเทศไทย วงเงิน 608 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค วงเงิน 210 ล้านบาท สำนักงานศาลยุติธรรม วงเงิน 386 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีอาคารที่ทำการศาลแพ่งมีนบุรีและศาลอาญามีนบุรี วงเงิน 782 ล้านบาท สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) วงเงิน 716 ล้านบาท

ชำแหละ “ITD-CREC No.10” คว้างานรัฐ 38 บิ๊กโปรเจ็กต์ 1.6 แสนล้าน

อาคารผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลสงขลา วงเงิน 426 ล้านบาท ตึกสตง. 2,136 ล้านบาท ฯลฯ

รวมถึงโครงการก่อสร้างเทอร์มินัลใหม่ ท่าอากาศยานนราธิวาส ของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) วงเงิน 639 ล้านบาท ที่ปัจจุบัน ทย.จ่อฉีกสัญญาทิ้งติดแบล็คลิสต์เป็นผู้ทิ้งงาน หลังทำงานล่าช้า

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,085 วันที่ 6 - 9 เมษายน พ.ศ. 2568