thansettakij
“การทางพิเศษฯ” ผ่าเส้นทาง ปลุก “ทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง” 93 ไร่

“การทางพิเศษฯ” ผ่าเส้นทาง ปลุก “ทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง” 93 ไร่

07 เม.ย. 2568 | 09:59 น.
อัปเดตล่าสุด :07 เม.ย. 2568 | 13:43 น.

“กทพ.” เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน รอบ 2 ปักหมุดเส้นทาง 3 ผ่านอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง 93 ไร่ เดินหน้าศึกษาสร้างทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด

นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ (ยุทธศาสตร์และแผน) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสม) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด   ณ ห้องประชุมตราดซิตี้ฮอลล์ โรงแรมตราดซิตี้ ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด นั้น

ขณะเดียวกันการประชุมในครั้งนี้เพื่อนำเสนอผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมและรูปแบบเบื้องต้นของโครงการฯ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบรวมถึงได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำมาปรับปรุง ข้อมูลรายละเอียดโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

สำหรับการพิจารณาคัดเลือกรูปแบบแนวเส้นทางเลือกของโครงการจะพิจารณาเปรียบเทียบปัจจัยหลัก ที่ใช้ในการพิจารณาทั้งหมด 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม 
 

โดยมีการกำหนดค่าตัวคูณ (Multiplier Factor, MF) ของแต่ละปัจจัยย่อย เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบประเมินข้อดี - ข้อด้อยของรูปแบบทางเลือก แล้วนำค่าตัวคูณ MF ไปคำนวณหาคะแนนรวมทั้ง 3 ปัจจัยหลัก ทั้งนี้รูปแบบทางเลือกที่มีคะแนนรวมสูงสุดจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดที่จะถูกนำไปใช้ในการออกแบบรายละเอียดต่อไป

อย่างไรก็ดีจากการศึกษาวิเคราะห์คะแนนของทั้ง 4 เส้นทางเลือก จากปัจจัยทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วย ปัจจัยด้านวิศวกรรมและจราจร ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และปัจจัยด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม พบว่า แนวเส้นทางเลือกที่ 3 เป็นแนวเส้นทางเลือกที่ได้รับการคัดเลือกว่ามีความเหมาะสมมากที่สุด เพื่อนำไปศึกษาตามขั้นตอนต่อไป

“การทางพิเศษฯ” ผ่าเส้นทาง ปลุก “ทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง” 93 ไร่

สำหรับแนวเส้นทางเลือกที่ 3 ได้คะแนนรวมมากที่สุด คือ 243.26 คะแนน จากคะแนนเต็ม 300 คะแนน เนื่องจากมีช่วงเส้นทางตัดผ่านอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ช่วงประมาณ 3.42 กิโลเมตร พื้นที่ 93.33 ไร่ ไม่มีช่วงเส้นทางตัดผ่านป่าชายเลนตามมติ ครม. และป่าไม้ถาวร 

นอกจากนี้ยังมีช่วงเส้นทางตัดผ่านแนวเขตปะการัง ช่วงประมาณ 87.5 เมตร พื้นที่ 2.20 ไร่ มีแหล่งอ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมใกล้แนวเส้นทาง จำนวน 2 จุด คือ วัดธรรมชาติล่าง ระยะห่าง 174.25 เมตร จากจุดกึ่งกลางของแนวเส้นทาง ท่าเรือเซ็นเตอร์พอยท์ ระยะห่าง 460 เมตร จากจุดกึ่งกลางของแนว
 

ทั้งนี้มีจุดเริ่มต้นแนวเส้นทาง บนทางหลวงชนบทหมายเลข ตร.4006 บริเวณ กม. 2+840บ้านธรรมชาติล่าง ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด จุดสิ้นสุด ถนน อบจ.ตร.10026บริเวณ กม. 5+300ในเขตพื้นที่บ้านด่านใหม่ ต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง จ.ตราด ระยะทางประมาณ 5.90 กิโลเมตร 

“การทางพิเศษฯ” ผ่าเส้นทาง ปลุก “ทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง” 93 ไร่
ส่วนรูปแบบเบื้องต้นของโครงการ ดังนี้

1.รูปแบบถนนระดับดินของโครงการ โดยถนนเส้นทางหลัก ออกแบบเป็นทางพิเศษ ขนาด 4 ช่องจราจร (ทิศทางละ 2 ช่องจราจร) มีแบ่งทิศทางด้วยกำแพงกันชนคอนกรีต (Concrete Barrier) มีความกว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร มีไหล่ในกว้าง 1.00 เมตร มีไหล่นอกกว้าง 2.50 เมตร

พร้อมรั้วกั้นแบ่งระหว่างถนนเส้นทางหลัก และถนนบริการ ส่วนถนนบริการ ออกแบบให้ช่องจราจรมีความกว้าง 3.50 เมตร มีไหล่ในกว้าง 1.00 เมตร และมีไหล่นอกกว้าง 1.0 เมตร 

ขณะที่รูปแบบโครงสร้างสะพานข้ามทะเลที่เหมาะสม  แบ่งออกเป็น 2 ช่วงความยาว ประกอบด้วย โครงสร้างสะพานช่วงความยาวพิเศษ เป็นโครงสร้างสะพานที่ออกแบบให้มีความยาวช่วงเสาประมาณ 200 เมตร เพื่อรองรับการลอดผ่านสำหรับเรือขนาดใหญ่

โดยมีรูปแบบโครงสร้างสะพานที่มีความเหมาะสม 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบโครงสร้างสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และรูปแบบโครงสร้างสะพานคานยื่นสมดุล (Balanced Cantilever Bridge)

อย่างไรก็ดีโครงสร้างสะพานช่วงความยาวทั่วไป เป็นโครงสร้างสะพานที่ออกแบบให้มีความยาวช่วงเสาประมาณ 50 - 60 เมตร  โดยมีรูปแบบโครงสร้างสะพานที่มีความเหมาะสม 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบโครงสร้างสะพานคานรูปกล่อง (Box Girder Bridge) และรูปแบบโครงสร้างสะพานคานสมดุล (Balanced Cantilever Bridge)