เอกชนจี้เร่งหาตลาดใหม่ ลดพึ่งสหรัฐยุคทรัมป์ 2.0 สินค้าจีนลามจ่อทุบ 30 อุตฯ

06 ก.พ. 2568 | 21:26 น.

เอกชนหวั่นไทยไม่รอด“ทรัมป์” ขึ้นภาษีสินค้า จี้รัฐเร่งตั้งวอร์รูม-จ้างล็อบบี้ยิสต์ช่วยกล่อมคงอัตราเดิม พร้อมแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ แนะเลียนจีนโมเดลเร่งหาตลาดใหม่ ลดพึ่งพาสหรัฐ ขณะสงครามการค้า บีบสินค้าจีนทะลักไทย จับตาลามกระทบ 30 อุตฯ กดภาคผลิตไทยโงหัวไม่ขึ้น

ภาคการส่งออกไทย เส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทย ณ เวลานี้ตกอยู่ในช่วงเฝ้าจับตามอง (Wait & See) สหรัฐอเมริกาในยุค “ทรัมป์ 2.0” ที่เวลานี้ได้จุดชนวนทำสงครามการค้ารอบใหม่ โดยสั่งขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดาในอัตรา 25% (ล่าสุดชะลอการขึ้นภาษีออกไป 30 วันนับตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. 2568) แต่ทั้งนี้ยังคงเดินหน้าขึ้นภาษีสินค้าจากจีน 10% ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ขณะที่อีกหลายประเทศรวมถึงไทยตกอยู่ในฐานะประเทศเป้าหมายในลำดับถัดไป

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 เป็นอีกหนึ่งปีที่มีความท้าทาย เฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงจากนโยบาย /มาตรการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หรือ “ทรัมป์ 2.0” ที่เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วในหลายเรื่อง และส่งผลกระทบกับโลก โดยประกาศเริ่มต้นการขึ้นภาษีนำเข้าในหลายกลุ่มสินค้าจาก 3 ประเทศนำร่องได้แก่ เม็กซิโก แคนาดา และจีน

อย่างไรก็ดีหากครบกำหนด 30 วัน และทรัมป์ยังคงสั่งเดินหน้าการขึ้นภาษีสินค้าจากเม็กซิโก ที่พึ่งพาตลาดสหรัฐสัดส่วนถึง 77% ของการส่งออก และแคนาดาที่พึ่งพาตลาดสหรัฐถึง 74% ของการส่งออก ในเบื้องต้นมองว่าสินค้าไทยและสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มที่สามารถทดแทนสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาได้ มีโอกาสที่จะส่งออกไปสหรัฐได้เพิ่ม เนื่องจากสินค้าจากทั้งเม็กซิโกและแคนาดาไปสหรัฐจะมีราคาสูงขึ้นตามต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้นอีก 25%

เอกชนจี้เร่งหาตลาดใหม่ ลดพึ่งสหรัฐยุคทรัมป์ 2.0 สินค้าจีนลามจ่อทุบ 30 อุตฯ

ส่วนกรณีสินค้าจีนที่ถูกสหรัฐขึ้นภาษีเป็นการหยั่งเชิงอีก 10% อาจจะยังไม่กระทบจีนมาก เพราะจีนยังสามารถดูดซับปัญหาจากอัตราภาษีอีก 10% ได้อย่างสบาย แต่จากที่ก่อนหน้านี้โดนัลด์ ทรัมป์ได้ประกาศไว้ว่าจะขึ้นภาษีสินค้าจีน 60-100% เรื่องนี้คงต้องติดตามว่าทั้งสองฝ่ายจะมีการเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ หรือตอบโต้กันด้านภาษีเป็นแพ็กเกจใหญ่ในสินค้าใดต่อไปบ้าง

ในส่วนของประเทศไทยเวลานี้ถือว่าอยู่ในจอเรดาร์ที่อาจถูกสหรัฐขึ้นภาษี เพราะในปี 2567 ล่าสุดไทยเป็นประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐมาก อยู่ในอันดับที่ 11 ของประเทศคู่ค้าสหรัฐ จากในปี 2562 ไทยอยู่ในอันดับที่ 14 ดังนั้นสิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการในเวลานี้คือ ต้องตั้งวอร์รูมรัฐ-เอกชน หรือทีมไทยแลนด์ เพื่อประเมินทิศทางสถานการณ์ และเตรียมมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“เรื่องที่สอง เราต้องเตรียมจ้างล็อบบี้ยิสต์เก่ง ๆ ของอเมริกา ให้ไปล็อบบี้ ไปคุยแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับสหรัฐ แลกกับการไม่ขึ้นภาษีสินค้าไทย ซึ่งเขาอาจจะบีบเรา เช่น ให้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของเขาให้มากขึ้น ให้ซื้อสินค้าทางการเกษตรเขา เช่น เนื้อหมู ซึ่งไทยอาจจะไม่เอา เพราะเนื้อหมูเขามีสารเร่งเนื้อแดงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือไม่อย่างนั้นเราช่วยซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือถั่วเหลืองเขาได้ไหม เรื่องเหล่านี้เราต้องเตรียมในการเจรจาแลกเปลี่ยนกับเขา”

นอกจากนี้สิ่งที่ไทยต้องเร่งดำเนินการ เพื่อลดความเสี่ยงจากตลาดสหรัฐ คือผู้ประกอบการทุกรายจะต้องมีความตื่นตัวและมีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง และเร่งหาตลาดใหม่ ๆ ในการส่งออก ไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในไม่กี่ประเทศที่เป็นตลาดหลัก

ขณะที่ภาครัฐต้องเร่งรัดในการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA)กับประเทศต่าง ๆ ให้มากขึ้น ซึ่งในการหาตลาดใหม่นี้ขอให้ดูจีนเป็นตัวอย่าง จากที่ก่อนหน้านี้จีนพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐสัดส่วนประมาณ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่หลังมีสงครามการค้า ปัจจุบันจีนลดการส่งออกไปสหรัฐ โดยเหลือสัดส่วนเพียง 15% ของการส่งออก

อย่างไรก็ดีผลที่เกิดขึ้นจากการหาตลาดใหม่ของจีน ได้มุ่งเป้ามายังตลาดอาเซียนที่มีไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก รวมถึงขยายไปยังตลาดที่อยู่ในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ในภูมิภาคและในประเทศต่าง ๆ ที่จีนได้ไปลงทุนด้านโลจิสติกส์เอาไว้ตามเส้นทางเหล่านี้ ทำให้ตลาดที่อยู่ตามเส้นทางเหล่านี้คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 50% ของการส่งออกจีนในปัจจุบัน

“ผลกระทบจากสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามายังตลาดอาเซียนซึ่งรวมถึงไทย ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศของไทยแล้ว 23 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท. หากปีนี้ภาครัฐของเราไม่ได้ใช้มาตรการที่มีอยู่ในหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการนำเข้าแบบคุมเข้ม 100% คาดจะส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 30 กลุ่มอุตสาหกรรม และจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยจะเหนื่อยไปอีกหลายปี ซึ่งทางออกของเราคือ การเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมสู่ Next Gen-Industry (อุตสาหกรรมแห่งอนาคต) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริงที่ยังต้องใช้เวลา”

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ครั้งล่าสุด (5 ก.พ. 68) ได้คงกรอบประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2568 อยู่ที่ 2.4-2.9% และการส่งออกขยายตัว 1.5-2.5% ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับที่ประมาณการณ์ไว้ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์การส่งออกไทยในปีนี้ที่มีความเสี่ยงอาจถูกสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า แต่ยังมองว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะยังขยายตัวเป็นบวก (ปี 2567 ส่งออกไทยรูปดอลลาร์สหรัฐขยายตัว 5.4%)

ก่อนหน้านี้หอการค้าไทยคาดการณ์ หากสินค้าไทยถูกสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าในอัตรา 10-20% ประเมินว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจไทยจะหายไปประมาณ 1.6 แสนล้านบาท และจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยลดลง 1.03% และกระทบต่ออัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ลดลง 0.59%

ดังนั้นมาตรการลดผลกระทบ ในเชิงรุกคือ ไทยต้องเร่งใช้ประโยชน์จากที่สหรัฐขึ้นภาษีสินค้าจีนรอบใหม่ในอัตรา 10% ในกลุ่มที่สินค้าไทยสามารถทดแทนสินค้าจีนในตลาสหรัฐได้ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและพลังงานทดแทน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทย และลดการพึ่งพาการส่งออกสินค้ามูลค่าต่ำให้น้อยลง ส่วนมาตรการเชิงรับ เช่น การกระจายความเสี่ยงตลาดส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน ยุโรป อินเดีย ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

“เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังเชื่อมั่นว่า ภาคการท่องที่ยวของไทยยังเป็นดาวรุ่ง ส่วนภาคการส่งออกก็ยังขยายตัวแน่นอน ขณะเดียวกันเราก็หวังว่าผู้ประกอบการจากต่างประเทศยังมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง สิ่งที่เราห่วงคือการเข้ามาเป็นประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ และได้ดำเนินมาตรการนำไปสู่การทำสงครามการค้ารอบใหม่ และไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า

เรื่องนี้ทางหอการค้าฯและกกร.จะตั้งทีมทำงานร่วมกับรัฐบาลในการเจรจากับสหรัฐ เพื่อให้สิ่งที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้เป็นไปในเชิงบวกกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม” นายสนั่น กล่าว