นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยพาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัดจันทบุรี ซึ่งได้นำตัวแทนผู้ประกอบการด้านผลไม้และด้านอัญมณีของจังหวัดจันทบุรี ประกอบด้วย สมาคมนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรไทย-จีน และสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี
นายพิชัย กล่าวว่า ในส่วนของผลไม้ ซึ่งจะเข้าสู่ฤดูกาลผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาด ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ โดยคาดการณ์จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าจะมีผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้น 37% หรือ 1.76 ล้านตัน ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงเร่งติดตามสถานการณ์การส่งออกอย่างใกล้ชิด โดยออกมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2568 ที่ครอบคลุมผลไม้หลักทุกชนิด โดยเฉพาะทุเรียน
สำหรับมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2568 มีทั้ง 7 มาตรการ ได้แก่
"วันนี้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้นำคณะมาเยี่ยมเยียนและรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งได้รับคำยืนยันว่า ข้อกังวลต่างๆ เช่นเรื่องการตรวจพบสารตกค้าง BY2 ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและใกล้เคียงได้แก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เช่น การบิ๊กคลีนนิ่งเพื่อกำจัดสารปนเปื้อน มีการร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าทุเรียน จะไม่พบสารตกค้าง BY2 อย่างแน่นอน"
นอกจากนี้ ได้มีโอกาสหารือและประสานงานกับ นายอู๋ จื้อ อู่ อัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยในหลายโอกาส ได้แจ้งให้ทราบถึงความเข้มงวดในการตรวจสอบและการดำเนินการในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นใจ และขอให้ประสานกับทางการจีน ให้ช่วยผ่อนคลายการตรวจสอบทุเรียนที่นำเข้าจากไทย
โดยให้สุ่มตรวจไม่ต้องตรวจสอบ 100% โดยไทยจะคุมเข้มและตรวจสอบ 100% ก่อนการส่งออก เพราะเกรงว่า การตรวจสอบทุกล็อต ทุกตู้คอนเทนเนอร์ จะทำให้เกิดความล่าช้า และอาจทำให้ทุเรียนที่รอการตรวจสอบเพื่อนำเข้าสู่จีนเน่าเสียหายได้
ขณะเดียวกัน ได้รับทราบข่าวดีจากทางอัครราชทูตว่า ทางจีนน่าจะมีการผ่อนคลายการตรวจตู้ทุเรียนของไทย ตามที่ร้องขอ ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหาเรื่องสารตกค้างหรือปนเปื้อนเลย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อเนื่อง ก็จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อการส่งออก
อย่างไรก็ดี ได้มีการเชิญอัครราชทูตลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อไปตรวจสอบคุณภาพทุเรียนของไทย เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้ทั้งทางผู้ส่งออกและชาวสวนไทยอีกด้วย
นอกจากจะรักษาการส่งออกในตลาดเดิม คือ ประเทศจีนแล้ว กระทรวงพาณิชย์ยังได้วางแผนหาตลาดต่างประเทศ เร่งขยายตลาดส่งออกผลไม้ไปยังตลาดที่มีศักยภาพให้มากขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอินเดีย โดยมีเป้าหมายดำเนินการไม่น้อยกว่า 950,000 ตัน คาดการณ์มูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท
โดยในช่วงต้นเดือน เมษายน 2568 นายกรัฐมนตรีอินเดียจะเดินทางมาไทย ก็จะหารือเพื่อผลักดันการส่งออกผลไม้ไทยไปขายในอินเดียด้วย