จากมติ คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) มีมติเห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2568 โดยจ่ายตรงเงินช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ วงเงิน 2,867.23 ล้านบาท มีเป้าหมายชาวนา 3.32 แสนครัวเรือน เนื้อที่ปลูก 5.5 ล้านไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ก.พ.68) ซึ่งอยู่ระหว่าง การส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป
นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ฤดูการเพาะปลูกข้าวนาปีจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงหน้านํ้า ส่วนนาปรังจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน จนถึงวันที่ 30 เมษายน ของปีถัดไป ซึ่งทางกรมมีการแบ่งการเพาะตามฤดูกาลของนํ้า ซึ่งในช่วงของนาปรัง จะมีการแบ่งย่อยตามพื้นที่อีก เช่นลุ่มนํ้าเจ้าพระยา 22 จังหวัด บวกกับพื้นที่ภาคใต้ ที่ฤดูการเพาะปลูกจะแตกต่างจากภาคอื่น โดยฤดูการเพาะปลูกข้าวนาปรังของภาคใต้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมถึงวันที่ 30 มิถุนายน เป็นต้น
“โดยภาพรวมทั้งประเทศชาวนาคนไหนที่ปลูกข้าวหลังเดือนพฤศจิกายน ก่อนวันที่ 30 เมษายน ของปีถัดไปคือข้าวนาปรัง แต่บางพื้นที่มีนาปรัง รอบ 1 และรอบ 2 ดังนั้นคำว่า การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง จากรัฐบาลต้องขึ้นอยู่กับคำนิยาม การแบ่งพื้นที่ตามนิยามของการเพาะปลูกของแต่ละพื้นที่ด้วย”
ทั้งนี้ในประเด็นความคลาดเคลื่อนในการสื่อสารว่า ข้าวนาปรัง จะรับขึ้นทะเบียนสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน 2568 นั้น กรมส่งเสริมการเกษตรยังต้องรอฟังรายละเอียดของโครงการเพิ่มเติมเพราะกรอบระยะเวลาฤดูกาลนาปรัง ปีการผลิต 2567/68 ที่กำหนดไว้ในคู่มือจะไม่สอดคล้องกับข่าวที่มีการนำเสนอออกไปก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดี นายครองศักดิ์ กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดที่เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว ได้เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว จากแรงจูงใจรัฐบาลมีโครงการสนับสนุนช่วยเหลือชาวนา ในช่วงการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกข้าวนาปรังของประเทศ ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 10 ไร่ โดยผลการขึ้นทะเบียนนาปรัง ปี 2567/68 มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียน 704,143 ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว และยังไม่รวมพื้นที่นาปรังจังหวัดภาคใต้ที่จะสิ้นสุดการลงทะเบียน 30 มิถุนายนที่จะถึงนี้”
แหล่งข่าวจาก นบข. กล่าวว่า ผลจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรนาปรังล่าสุด ส่งผลทำให้งบประมาณที่รัฐบาลอนุมัติไว้มีไม่เพียงพอ จะต้องหางบประมาณอื่นมาเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมที่จะสนับสนุนเงินช่วยเหลือชาวนาในโครงการนาปรัง หากครม.มีมติเห็นชอบ ซึ่งได้เตรียมเงินสำรองไว้พร้อมแล้วจำนวนประมาณ 5,000 ล้านบาท
ด้านนายสุทธิ สานกิ่งทอง นายกสมาคมค้าข้าวไทยกล่าวถึง สถานการณ์ค้าข้าวในประเทศและส่งออก ตลาดค่อนข้างเงียบมาก และในส่วนของเปลือกเจ้าชาวนาอยู่ในช่วงการเก็บเกี่ยวและเข้าสู่ฤดูข้าวใหม่ ส่งผลให้ราคาข้าวทั้งข้าวเปลือกและข้าวสารในประเทศของไทยมีแนวโน้มตํ่าสุดในรอบ 6 ปี ประกอบกับไม่มีปัจจัยบวกอะไรเข้ามาเลยที่จะทำให้การส่งออกกระเตื้องขึ้น
สอดคล้องนายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า โรงสีก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันจากราคาข้าวตกตํ่า เนื่องจากโรงสีมีต้นทุนเก็บข้าวราคาสูงไว้ ดังนั้นผลกระทบไม่ใช่เกิดกับชาวนาเพียงอย่างเดียว อีกด้านหนึ่งนอกจากจะขอความร่วมมือเกษตรกรให้ลดการปลูกข้าวนาปรังแล้ว จะต้องระงับการนำเข้าธัญพืชโลกเข้ามาด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวบาร์เลย์ เพราะจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรในประเทศตกตํ่าดังนั้นจึงขอฝากกระทรวงพาณิชย์ ช่วยทบทวนมาตรการเหล่านี้ ส่วนอีกด้านหนึ่งต้องให้ทางโรงงานอาหารสัตว์ นำข้าวไปใช้เป็นวัตถุดิบแทนธัญพืชอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันรำข้าว ราคา 9-9.20 บาทต่อกิโลกรัม ถูกกว่าราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่อยู่ที่ 9.60-10.20 บาท ถือเป็นปรากฏการณ์ในรอบหลายปีที่เกิดปัญหาแบบนี้
แหล่งข่าวผู้ส่งออกข้าวไทย เผยถึงภาพรวมปริมาณผลผลิตข้าวโลกของทั้งประเทศผู้ส่งออกและผู้นำเข้าข้าวสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีนี้ จากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก อีกทั้งผู้นำเข้าข้าวรายสำคัญอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ชะลอการนำเข้าข้าว เนื่องจากคาดการณ์ว่าราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงได้อีก จากคาดว่าผลผลิตข้าวของประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ทั้งอินเดีย ไทย และเวียดนามจะออกสู่ตลาดปริมาณมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน จึงยังคงชะลอการนำเข้าข้าว นอกจากนี้ราคาส่งออกข้าวไทยสูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งขันรายอื่น ส่งผลปริมาณส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มลดลง
อนึ่ง สต๊อกข้าวโลก 2567/68 คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 182.63 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.15 ล้านตัน โดยจีนมีสต๊อกข้าวมากที่สุด ปริมาณ 103.50 ล้านตัน รองลงมา คือ อินเดีย 44.00 ล้านตัน อินโดนีเซีย 4.42 ล้านตัน ฟิลิปปินส์ 3.70 ล้านตัน และไทย 2.66 ล้านตัน
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,082 วันที่ 27 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2568