สหรัฐฯ ประกาศมาตรการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศในอัตรา 25% สำหรับ "รถยนต์ทุกคันที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐอเมริกา" โดยระบุว่าจะไม่มีการเก็บภาษีสำหรับรถยนต์ที่ผลิตในประเทศสหรัฐฯ
โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เมษายน และจะเริ่มเก็บภาษีในวันที่ 3 เมษายน นี้
นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบหมด สำหรับไทยจะได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน ปัจจุบันไทยมีการส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐฯ ประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ชิ้นส่วนยานยนต์ มีการส่งออกประมาณ 1,600 ล้าน ดอลลาร์ ฉะนั้นอุตสาหกรรมรถยนต์จะได้รับผลกระทบโดยตรงมูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาท ส่วนอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ ปัจจุบันมีการเก็บภาษี 3% ซึ่งก็ยังไม่มั่นใจว่าจะมีเก็บเพิ่มหรือไม่
"ตอนนี้เม็กซิโกอาจจะโดนผลกระทบน้อยที่สุด เพราะว่ามีการใช้ชิ้นส่วนจากสหรัฐ 75% โดยคาดว่าโซนยุโรปน่าจะโดนหนักสุดเพราะว่าชิ้นส่วนยานยนต์ส่วนใหญ่มาจากไทย และส่งรถยนต์เข้าไปยังสหรัฐค่อนข้างเยอะ"
อย่างไรก็ดี ตลาดยุโรป และ สหรัฐ ยังต้องนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์อยู่ ยังหาซัพพลายเชนไม่ได้ แต่ว่าราคาต้นทุนอาจจะสูงขึ้น เพราะปัจจุบันชิ้นส่วนยานยนต์มันยังถูกบังคับไม่สามารถผลิตในสหรัฐได้ ตอนนี้สหรัฐมีนโยบายต้องการดึงดูดการลงทุน จึงใช้วิธีการขึ้นภาษีเพื่อดึงนักลงทุนเข้าประเทศ
"ถ้าในอนาคตหากมีการย้ายฐานผลิตไปสหรัฐ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไทยจะได้รับผลกระทบหนัก หรือหากมีบริษัทไทยไปลงทุนที่สหรัฐ ยอดส่งออกก็จะลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบในระยะยาว ขณะที่ระยะสั้น เนื่องจากชิ้นส่วนยายนต์ส่วนใหญ่ไม่สามารถเปลี่ยนโมเดลได้ ยกเว้นส่วนที่เป็นยาง จะได้รับผลกระทบทันที"
ทั้งนี้ ด้านต้นทุนของสินค้า ทางสหรัฐฯให้ผู้ประกอบการไทยเป็นความรับผิดชอบ ซึ่งเท่าที่คุยกับซัพพลายเออร์การขึ้นภาษี ผู้ประกอบการไทยจะได้ต้องจ่ายภาษีครึ่งนึง และฝั่งผู้นำเข้าจากสหรัฐฯจ่ายอีกครึ่งนึง ซึ่งอาจจะต้องลดมาร์จิ้นการซื้อขายมาซัพพอตในส่วนนี้ คือ การลดราคารถยนต์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ผลกระทบน้อยที่สุด
ด้านเรื่องค่าขนส่งตอนนี้ค่าระวางยังไม่ได้แพงมาก หากส่งไปยังเม็กซิโกเพื่อส่งออกไปสหรัฐ เพราะว่าโลจิสติกส์คอสจากเม็กซิโกไปสหรัฐ มันสั้นกว่าภาษีไม่ต้องเสีย แต่หากต้องเสียภาษี 25% โลจิสติกส์มันจะถูกกว่า ปัญหาคือไทยส่งไปที่ยุโรปและสหรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการลดราคาสินค้าเพื่อรองรับลูกค้า นอกจากนี้ ยังมีสินค้าไทยที่ส่งยังยุโรปเพื่อส่งออกไปสหรัฐ ซึ่งคิดว่ายุโรปจะออกไปสหรัฐลดน้อยลง เพราะฉะนั้นสินค้าที่ไทยส่งออกไปยุโรปก็อาจจะลดลงด้วย
ทั้งนี้ภาพรวมการส่งออกปี 2568 ได้มีการตั้งเป้าไว้ที่ 2-3% ถ้าสหรัฐมีการเก็บภาษีนำเข้าเท่ากันทุกประเทศก็น่าจะได้รับผลกระทบเท่ากันหมด ปัจจุบันไทยส่งออกไปตลาดสหรัฐค่อนข้างมาก ขณะที่ตลาดอื่นๆ ยอดส่งออกโตขึ้นก็อาจจะมาทดแทนกันได้
ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยควรดำเนินการการเก็บภาษี ซึ่ง ปัจจุบันไทยมีการเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ มากกว่าสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าจากไทย สหรัฐไม่ใช่ผู้ผลิตของโลกเพราะฉะนั้นรัฐบาลควรพิจารณาลดภาษีนำเข้าในกลุ่มสินค้าที่หมวดเดียวกันที่สหรัฐนำเข้าจากไทย อาทิ ยางพารา เฟอร์นิเจอร์ สมมติไทยเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ 20% แต่สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าไทย 10% เราก็อาจจะต้องลดให้เขา เพราะถ้าหากสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าเท่ากันจะได้รับผลกระทบหนัก ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกไปมากกว่าสหรัฐนำเข้า
ฐานเศรษฐกิจตรวจสอบข้อมูลการส่งออกของไทย จากกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ไทยมีการส่งออก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 5 ปีย้อนหลัง (ม.ค. 63 - ม.ค. 68) มีมูลค่าการส่งออก 7,826,370 ล้านบาท
สำหรับสถิติการส่งออกรถยนต์ไทยไปสหรัฐ ปี 2563 พบว่า ไตรมาสแรก ( ม.ค. -มี.ค. ) มีมูลค่าการส่งออก 260,181 ล้านบาท ไตรมาสสอง ( เม.ษ. - มิ.ย.) มีมูลค่าการส่งออก 252,264 ล้านบาท ไตรมาสสาม ( ก.ค - ก.ย.) มีมูลค่าการส่งออก 279,262 ล้านบาท ไตรมาสสี่ ( ต.ค. - ธ.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 275,374 ล้านบาท มูลค่ารวมทั้งปี 1,067,083 ล้านบาท
ปี 2564 พบว่า ไตรมาสแรก ( ม.ค. -มี.ค. ) มีมูลค่าการส่งออก 287,745 ล้านบาท ไตรมาสสอง ( เม.ษ. - มิ.ย.) มีมูลค่าการส่งออก 317,255 ล้านบาท ไตรมาสสาม ( ก.ค - ก.ย.) มีมูลค่าการส่งออก 122,980 ล้านบาท ไตรมาสสี่ ( ต.ค. - ธ.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 369,519 ล้านบาท มูลค่ารวมทั้งปี 1,321,358 ล้านบาท
ปี 2565 พบว่า ไตรมาสแรก ( ม.ค. -มี.ค. ) มีมูลค่าการส่งออก 388,957 ล้านบาท ไตรมาสสอง ( เม.ษ. - มิ.ย.) มีมูลค่าการส่งออก 406,556 ล้านบาท ไตรมาสสาม ( ก.ค - ก.ย.) มีมูลค่าการส่งออก 444,774 ล้านบาท ไตรมาสสี่ ( ต.ค. - ธ.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 408,421 ล้านบาท มูลค่ารวมทั้งปี 1,648,710 ล้านบาท
ปี 2566 พบว่า ไตรมาสแรก ( ม.ค. -มี.ค. ) มีมูลค่าการส่งออก 387,630 ล้านบาท ไตรมาสสอง ( เม.ษ. - มิ.ย.) มีมูลค่าการส่งออก 399,201 ล้านบาท ไตรมาสสาม ( ก.ค - ก.ย.) มีมูลค่าการส่งออก 445,142 ล้านบาท ไตรมาสสี่ ( ต.ค. - ธ.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 435,755 ล้านบาท มูลค่ารวมทั้งปี 1,667,729 ล้านบาท
ปี 2567 พบว่า ไตรมาสแรก ( ม.ค. -มี.ค. ) มีมูลค่าการส่งออก 444,717 ล้านบาท ไตรมาสสอง ( เม.ษ. - มิ.ย.) มีมูลค่าการส่งออก 475,560 ล้านบาท ไตรมาสสาม ( ก.ค - ก.ย.) มีมูลค่าการส่งออก 527,110 ล้านบาท ไตรมาสสี่ ( ต.ค. - ธ.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 418,094 ล้านบาท มูลค่ารวมทั้งปี 1,928, 483 ล้านบาท
ปี 2568 พบว่า เดือนมกราคม มีมูลค่าการส่งออก 163,007 ล้านบาท
จากข้อมูลกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รายงานว่า ภาวะการค้ารถยนต์สหรัฐฯ นําเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์จากไทย ม.ค.-ธ.ค. 67 มูลค่ารวม 6,124 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 12.04%
แบ่งเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 382 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 68.28% และรถบรรทุก รถบัสและรถพิเศษ 15 ล้านดอลลาร์ ลดลง 21.05% และชิ้นส่วนรถยนต์ 5,726 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9.67%
ทั้งนี้มูลค่าการค้าไทยกับสหรัฐฯ ม.ค. 68 มีมูลค่าการค้าเป็นอันดับที่ 21 โดยมีมูลค่ารวม 7.28 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 19.37% และคิดเป็นสัดส่วน 1.51% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของสหรัฐฯซึ่งสหรัฐฯ นําเข้าจากไทยเป็นลําดับที่ 14 โดยมีมูลค่าการนําเข้าจากไทย 5.63 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 17.19% คิดเป็นสัดส่วน 1.78%
ขณะเดียวกันไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 23 ของสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ส่งออกไปไทยอยู่ที่ 1.64 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 27.51% คิดเป็นสัดส่วน 1% ของการส่งออกทั้งหมดของสหรัฐฯ
นอกจากนี้สินค้าทุนและสินค้าศักยภาพระหว่างไทย-สหรัฐฯ ม.ค.- ธ.ค. 67 สินค้าทุน ที่สหรัฐฯ นําเข้าจากไทยขยายตัว 12.64% โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า (HS 8543) ส่วนประกอบประมวลผล (HS 8473) และโทรศัพท์และอุปกรณ์ (HS 8517)
สินค้าศักยภาพ ที่สหรัฐฯ นําเข้าจากไทย ม.ค.- ธ.ค. 67 ขยายตัวร้อยละ 12.79 โดยสินค้าที่มีการขยายตัวสูง ได้แก่ ยางธรรมชาติ (HS4001) อาหารสัตว์ (HS 2309) และเฟอร์นิเจอร์ (HS 9403)